- “Maleficent” มีเสน่ห์คลาสสิกที่สืบทอดมาจากตำนานเจ้าหญิงนิทรา ซึ่งพัฒนาขึ้นภายใต้ชื่อต่างๆ กันประมาณกว่า 400 ปี งานเขียนยุคเริ่มแรกของเรื่องราวนี้สามารถสาวกลับไปถึงนิยายฝรั่งเศสเรื่อง “Perceforest” (ไม่รู้ชื่อผู้เขียน) ที่เขียนขึ้นในปี 1527
- ในปี 1697 เรื่องราว “The Beauty Asleep in the Woods” ถูกตีพิมพ์โดยชาร์ลส์ เปอร์โรล ในหนังสือเรื่อง “The Tales of Mother Goose” ของเขา เขาเปลี่ยนแปลงตัวร้ายจากราชินีให้กลายเป็นนางฟ้าใจร้ายและเวอร์ชันนี้ก็ใกล้เคียงกับการตีความของดิสนีย์มากที่สุด นอกจากนี้ เปอร์โรลยังได้เพิ่มเติมเรื่องของเจ้าชายรูปงาม ผู้ที่สามารถทำลายคำสาปด้วยจุมพิต เข้าไปอีกด้วย
- มาเลฟิเซนต์เป็นตัวละครดิสนีย์ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์อนิเมชันปี 1959 เรื่อง “Sleeping Beauty” ที่ใช้เวลาสร้างนาน 10 ปี และทุนสร้าง 6 ล้านเหรียญ มันเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุดเท่าที่สตูดิโอเคยสร้างมาจนถึงตอนนั้น
- “Maleficent” เริ่มต้นการถ่ายทำในวันที่ 11 มิถุนายน ปี 2012 ในไพน์วู้ด สตูดิโอส์ ที่เลื่องชื่อของอังกฤษ และเป็นที่ที่การถ่ายทำส่วนใหญ่เกิดขึ้น พวกเขาใช้เวลาห้าเดือนในการถ่ายทำในหกซาวน์สเตจ และพื้นที่หลายพันหลาในโรงถ่ายและบริเวณคอกม้า
- กองถ่ายเรื่องนี้มีฉากที่สร้างขึ้นจริงที่พิเศษสุดหลายฉาก ผู้ออกแบบงานสร้าง แกรี ฟรีแมนและดีแลน โคล รวมถึงนักตกแต่งฉาก ลี แซนเดลส์ ได้ร่วมงานกับผู้กำกับโรเบิร์ต สตรอมเบิร์กในการสร้างแบ็คดร็อปภายในและภายนอกที่คู่ควรกับการถ่ายทำที่ยิ่งใหญ่นี้ มีฉากที่ถูกสร้างขึ้นประมาณ 40 ฉาก ตั้งแต่ห้อง 12 ตารางฟุตไปจนถึงห้องโถงใหญ่ขนาด 5,000 ตารางฟุต
- ปราสาทในเรื่องเป็นการจำลองทั้งภายในและภายนอกมาจากปราสาทในภาพยนตร์อนิเมชันปี 1959 มันมีสเกลที่ยิ่งใหญ่ด้วยพื้นหินอ่อน อุปกรณ์และแผ่นปิดพื้นผิวจากศตวรรษที่ 16 ทุกที่ประดับประดาไปด้วยของโบราณ ฉากนี้ใช้เวลาสร้าง 14 สัปดาห์ ใช้คนงานประมาณ 250 ชีวิต และใช้แผนกศิลป์จำนวนประมาณ 20 คน
- ริค เบเกอร์เจ้าของเจ็ดรางวัลอคาเดมี อวอร์ด เป็นผู้ควบคุมทีมสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ เมคอัพ ซึ่งรับผิดชอบดูแลส่วนเขาและชิ้นส่วนเทียมตรงแก้มของแองเจลินา โจลี รวมถึงเมคอัพพิเศษของตัวละครด้วย
- เบเกอร์และทีมงานของเขาได้สร้างเขาสามแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ใกล้เคียงกับลุคของตัวการ์ตูนมาเลฟิเซนต์ด้วย ส่วนเขาของสร้างจากเรซินหล่อยูรีเธน ซึ่งน้ำหนักเบาและทนทาน ในการทำให้ชิ้นส่วนเทียมทั้งหมดของแองเจลินารับกับมุมใบหน้าของเธอ ทีมงานจะต้องหล่อแบบศีรษะของเธอ แล้วค่อยเสริมส่วนขากรรไกรและหูที่เป็นยางเข้าไปตามเหลี่ยมมุมนั้น สำหรับแองเจลินา โจลี กระบวนการสำหรับการติดชิ้นส่วนเทียมทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงในช่วงเช้า
- ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย แอนนา บี. เชพเพิร์ดไม่เคยเจอความท้าทายแบบในภาพยนตร์เรื่องนี้มาก่อนเลย นอกเหนือจากการที่เธอต้องปรับเปลี่ยนแบบดีไซน์ของเธอระหว่างโลกเทพนิยายและโลกมนุษย์ ยังมีเสื้อผ้ามากมายหลากหลายประเภทภายในทั้งสองโลกที่เธอจะต้องสร้างขึ้น โดยรวมแล้ว เธอและทีมงานของเธอต้องตัดเย็บชุดกว่า 2,000 ชุดด้วยมือ
- ผู้ดูแลอุปกรณ์ประกอบฉาก เดวิด บัลโฟร์ได้จำลองเครื่องปั่นด้ายขึ้นมาหลายสิบเครื่องสำหรับฉากในเรื่อง ที่กษัตริย์สั่งห้ามไม่ให้มีเครื่องปั่นด้ายในอาณาจักร เครื่องปั่นด้ายเป็นองค์ประกอบเพียงหนึ่งเดียวที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องในตำนานเจ้าหญิงนิทรา นับตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงยุคใหม่ เข็มปั่นด้ายหรือเศษของด้ายที่ปั่นออกมาเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าหญิงนิทราทุกองค์หลับใหลภายใต้คำสาป
- แซม ไรลีย์ ผู้รับบท เดียวัล ที่เปลี่ยนร่างได้ ได้พบกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหว ที่ช่วยเหลือเขาในการศึกษาการเคลื่อนไหวของอีกา ไรลีย์ยอมรับว่าการฝึกฝนหลายชั่วโมงนั้นเป็นช่วงเวลาที่น่าอับอายที่สุดเท่าที่เขาเคยเจอมาระหว่างการเตรียมพร้อมสำหรับการแสดงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิ่งไปรอบห้อง พร้อมกระพือปีกและส่งเสียงร้องกาๆ ไปด้วย การสวมคอนแท็คเลนส์ที่ทำให้ดวงตาของเขาเป็นสีดำ และการติดขนนกที่ผม ทำให้เดียวัลมีองค์ประกอบของสัตว์มีปีกแม้แต่ในเวลาที่เขาอยู่ในร่างมนุษย์ก็ตาม
- กระท่อมมุงหลังคาที่กลายเป็นบ้านในวัยเด็กของออโรราถูกสร้างขึ้นที่ลานด้านหลังของไพน์วู้ด สตูดิโอส์ในลอนดอน กระท่อมหลังนี้มีโครงสร้างที่ทำจากท่อนซุง และหลังคามุงกระเบื้องที่มุงโดยช่างมุงหลังคาจริงๆ ด้วยมือ มีช่างมุงหลังคาที่ทำงานเต็มเวลาประมาณ 1,000 คนในอังกฤษ แต่การมุงหลังคากลายเป็นที่นิยมอีกครั้งเพราะความสนใจที่สาธารณชนมีต่อการอนุรักษ์อาคาเก่าและใช้วัสดุสร้างบ้านที่ยั่งยืนมากขึ้น
- แองเจลินาทำงานร่วมกับช่างทำหมวกเพื่อออกแบบส่วนติดศีรษะที่เธอสวมในภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อซ่อนเขาของเธอ มีส่วนประดับศีรษะหกแบบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งรวมถึงลุคซัมเมอร์หนังงู และลุคตอนพิธีล้างบาปกำเนิด ด้วยเขาที่ปกคลุมไปด้วยหนังนาปา ประดับประดาด้วยหนังปลากระเบน
- มีการใช้เพอร์ฟอร์มานซ์ แคปเจอร์สำหรับนางฟ้าทั้งสามองค์ (อิเมลดา สตอนตัน, จูโน เทมเปิล, เลสลีย์ แมนวิลล์) ในตอนที่พวกเธออยู่ในร่างความสูง 21 นิ้วตามปกติ เพื่อบันทึกทุกอากัปกิริยาของพวกเธอ ทีมงานวิชวล เอฟเฟ็กต์ใช้ตัวบอกตำแหน่ง 150 จุดบนใบหน้าของแต่ละคน เพื่อบันทึกสีหน้าของพวกเธอไปใช้ในตัวละคร CG ตัวละครที่ตลกขบขันเหล่านี้ถูกล้อเลียนนิดๆ เวลาอยู่ในร่าง 21 นิ้ว ด้วยหัวที่โตขึ้น ดวงตาใหญ่ขึ้น และรูปร่างตามธรรมชาติของพวกเธอก็ถูกทำให้โอเวอร์ขึ้น เพื่อที่พวกเธอจะไม่ได้เป็นเพียงแค่คนธรรมดาที่ถูกหดให้เหลือ 21 นิ้ว
DON’T BELIEVE THE FAIRY TALE
จงอย่าเชื่อนิทานกาลครั้งหนึ่ง
12 มิถุนายนนี้ ในโรงภาพยนตร์
และในระบบดิสนีย์ ดิจิตอล 3 มิติ