คอหนังอินดี้เตรียมเฮ เพราะโรงภาพยนตร์เครือ SF ได้รวบรวมหนัง 3 เรื่อง 3 รส ที่เคยเข้าฉายแล้วกลับมาฉายใหม่อีกครั้ง ได้แก่เรื่อง Distance, เพลงของข้าว, และ มหาสมุทรและสุสาน (The Island Funeral) ภายใต้โปรเจกต์ "Unlock Indies" ผ่านการคัดสรรของ นุช-พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับมากฝีมือที่คว้ารางวัล FIPRESCI จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกง ปี 2559 และรางวัล Best Asian Future Film จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวกับหนังเรื่อง "มหาสมุทรและสุสาน" มาครอง
โปรเจกต์ Unlock Indies เกิดขึ้นได้อย่างไร
พิมพกา : เราอยากให้คนรู้จักหนังอินดี้ซึ่งเป็นหนังของกลุ่มคนเล็กๆ ที่ใช้ทุนสร้างส่วนตัวหรือหาทุนมาสร้างเองมากขึ้น ดังนั้นหากฉายเพียงเรื่องเดียวคนก็จะมองผ่านไป เราจึงคิดว่าถ้าทำเป็นโปรเจกต์พิเศษและฉายหลายๆ เรื่องไล่ ๆ กันไป คนดูจะได้เห็นความหลากหลายของหนังอินดี้ และได้รู้ว่าหนังอินดี้ไม่ได้ดูยากอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่แค่มีรูปแบบการเล่าเรื่องที่แตกต่างไปจากหนังกระแสหลักเท่านั้น
สองในสามของหนังที่เลือกมา ได้แก่ หนังชุด "เพลงของข้าว" และ "มหาสมุทรและสุสาน" เป็นการสะท้อนถึงรากเหง้าของคนไทยด้วย มันเป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจในการเลือกหนังทั้งสองเรื่อง
พิมพกา : หนังชุดเพลงของข้าว อุรุพงศ์ (อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับ) เขาชอบและมีความรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว จึงทำให้งานออกมาเป็นหนังที่โหยหาอดีตที่สวยงาม เป็นหนังที่ดูแล้วมีความสุข ส่วนหนังของเรามาจากความสนใจในเรื่องของผู้หญิงที่ตั้งคำถามถึงรากเหง้าของตัวเองเหมือนกันก็คือ ถ้าฉันเป็นมุสลิมในกรุงเทพฯ แล้วไปอยู่ในภาคใต้ มันจะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เนื้อหาของหนังจึงเป็นการถามถึงชีวิตในทุกวันนี้ว่าสังคมที่เราอยู่เป็นสังคมแบบไหน ความขัดแย้งในสังคมมันจะจบลงอย่างไร ซึ่งเรานำเสนอออกมาด้วยความรู้สึกมีความหวัง เรามองว่าทั้งสองเรื่องมีวิธีการเล่าเรื่องที่ต่างไปจากเดิม เพราะหนังเกี่ยวกับสังคมส่วนใหญ่จะทำออกมาหดหู่ แต่ที่จริงมันไม่จำเป็นต้องเป็นหนังหดหู่ มันอาจจะเป็นหนังที่มีความหวัง สดใส ส่องสว่าง ให้ความรู้สึกดีเหมือนหนังสองเรื่องนี้ก็ได้
เพราะอะไรหนังเรื่อง "มหาสมุทรและสุสาน" ที่คุณเป็นผู้กำกับ ถึงใช้เวลานานถึง 8 ปีในการสร้างสรรค์
พิมพกา : หลักๆ ที่ทำให้ระยะเวลาในการถ่ายทำนาน อย่างแรกเลยคือเงินทุน มันหายาก เพราะหนังที่ทำไม่ใช่หนังกระแสหลัก ประการต่อมาคือประเด็นของหนังเรื่องนี้ในตอนนั้นยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และมันอันตรายเนื่องจากต้องลงไปถ่ายทำในสถานที่จริง ซึ่งก็คือปัตตานี เมื่อ 8 ปีก่อนสถานการณ์มันน่ากลัวมาก ไม่มีใครกล้าลงไปทำ แต่เราก็เลือกที่จะลงไปถ่าย อีกประการหนึ่งก็คือหนังเรื่องนี้ถ่ายทำด้วยแผ่นฟิล์ม ดังนั้นมันจึงมีอะไรให้ต้องจัดการค่อนข้างเยอะในเรื่องของโปรดักชั่น ซึ่งกินระยะเวลานาน
หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จและได้รางวัลจากสองเทศกาลใหญ่ของเอเชีย คุณรู้สึกอย่างไร
พิมพกา : ดีใจมาก เพราะช่วงนั้นมีข่าวออกมาเยอะ ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าจะได้รับรางวัลใหญ่โต สื่อใหญ่ๆ ต่างให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว ตัวหนังมันไม่ได้พูดเรื่องภาคใต้ทั้งหมดนะ มันเป็นการจุดประเด็นพูดคุยถึงเรื่องนี้มากขึ้นมากกว่า เพราะหนังที่พูดถึงประเด็นนี้มีน้อยมาก เราก็หวังว่าคนไทยจะมาดูหนังเรื่องนี้กัน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือเราทำหนังมาเพื่อให้คนไทยดู
คุณเป็นคนหนึ่งที่ทำหนังโดยไม่เพิ่งค่ายหนังใหญ่หรือสตูดิโอหนัง หรือที่เรียกกันว่าหนังอินดี้ จริงๆ แล้วคนทำหนังประเภทนี้สนใจกระแสคนดูในตลาดหรือไม่
พิมพกา : ความจริงแล้วทุกคนแคร์นะ แต่เรามองตลาดและคนดูแตกต่างจากหนังกระแสหลัก เชื่อว่าทุกคนอยากให้คนดูหนังที่ตัวเองทำ เพียงแต่ว่ากลุ่มคนดูของคนทำหนังอินดี้อาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ใหญ่มาก ดังนั้นเมื่อกลุ่มคนดูเล็กลง คนทำหนังก็มีอิสระในการใช้ช่องทางใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องในมุมมองที่ต่างออกไป แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าคนทำหนังอินดี้ที่ไม่ได้อิงกระแสหลักจะไม่ชอบหนังกระแสหลักหรือหนังตลาดนะ เราแค่อยากทำหนังอีกรูปแบบหนึ่งที่มีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ที่ดีขึ้นเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหนังนอกกระแสหรือหนังจากคนทำหนังอินดี้เข้ามาเพิ่มความหลากหลาย แต่วงการภาพยนตร์ไทยตอนนี้กลับซบเซาลงมาก คุณมองว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร
พิมพกา : มันมีปัจจัยหลายอย่างนะ อย่างแรกคือแม้หนังมีจำนวนมากขึ้น แต่กลับเป็นหนังที่มีความคล้ายคลึงกัน จึงทำให้คนรู้สึกว่ามันมีแต่หนังที่คล้ายกันไปหมด และคนก็จะเลือกดูแต่หนังที่เขามั่นใจได้ว่าดูแล้วจะไม่ผิดหวัง แต่ถ้าเจาะลงไปที่หนังอินดี้โดยเฉพาะ เรามองว่าปัญหาของหนังอินดี้หลักๆ คือความไม่ต่อเนื่องของการฉายหนัง หลายคนมักคิดว่าหนังประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องดูในโรงหนังก็ได้ เพราะเดี๋ยวก็ปล่อยลง YouTube แล้ว คนจึงไม่เห็นคุณค่าของมัน แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ในเมืองไทย สองปีที่ผ่านมา วงการหนังต่างประเทศก็ต้องต่อสู้กับโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก การดูอะไรก็ได้ผ่าน YouTube, Facebook มันทำให้คนทำหนังต้องหันมาจัดอีเวนต์ต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้คนไปดูหนังในโรงหนังมากขึ้น
มองว่าปัญหาส่วนหนึ่งของคนทำหนังอินดี้คือมีรอบฉายในโรงหนังน้อยกว่าหนังจากค่ายหนังหรือสตูดิโอใหญ่ๆ หรือเปล่า
พิมพกา : เราคิดว่าปัญหาเรื่องโรงหนังเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่ามันเป็นธุรกิจ ระบบของวงการภาพยนตร์มี 2 ส่วน คือส่วนของอุตสาหกรรม อีกส่วนคือพวกเราคนทำหนังอินดี้และหนังเล็กๆ ทั้งหลาย แต่ระบบหนังไทยมีระบบเดียวคือระบบอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากจำนวนคนดู ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหนังจากค่าย หรือหนังอินดี้ก็วัดเหมือนกันหมด ในฐานะคนทำหนังอินดี้จึงต้องทำด้วยตัวเอง ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้หนังสามารถเข้าไปฉายในโรงหนังได้ ซึ่ง SF ก็เข้าใจและสนใจหนังทางเลือก โปรเจกต์ Unlock Indies จึงเกิดขึ้น แต่ว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนทำหนังแนวนี้มาร่วมด้วย เพื่อให้เห็นถึงความหลากหลาย และสิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือทำให้คนหันมาดูหนังแนวนี้มากขึ้น เขาอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ เราต้องยอมรับ ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาไปด้วยว่าคนดูต้องการอะไร และหาหนทางทำให้มันดีขึ้นและสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการของคนดูและความต้องการของคนทำหนัง
แล้วรัฐเข้ามามีส่วนสนับสนุนคนทำหนังอินดี้อย่างไรบ้าง
พิมพกา : รัฐเข้าใจคนทำหนังอินดี้มากขึ้นจากเดิม และให้ทุนสนับสนุนการผลิตหรือค่าเดินทางบ้าง แต่เรื่องของทุนในการจัดจำหน่ายและการพัฒนาเรื่องระบบการฉายยังไม่ค่อยมี ซึ่งสิ่งที่เราอยากให้รัฐช่วยคือจัดสรรให้มีพื้นที่ในการฉายมากขึ้น สนับสนุนให้หนังพวกนี้อยู่ได้นานขึ้นในโรงภาพยนตร์ เพื่อรอให้การบอกต่อปากต่อปากมันทำหน้าที่ดึงให้คนมาดูหนังก่อน
โปรเจกต์ต่อไปคืออะไร
พิมพกา : ก็มีทำหนังสั้นและมีโปรเจกต์ยาวเรื่องใหม่ซึ่งกำลังแก้บทอยู่ ตอนนี้เรากำลังพยายามหาทุนเพิ่มอีก คงต้องใช้เวลา แต่เราก็ไม่ได้ใจร้อน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าหนังของเราจะไปในทิศทางไหน
กำหนดการเข้าฉายทั้ง 3 เรื่องจากโปรเจกต์ Unlock Indies
Distance ความห่างไกลระหว่างเรา กำหนดเข้าฉายวันที่ 16 มิถุนายน 2559
The Songs of Rice เพลงของข้าว กำหนดเข้าฉายวันที่ 30 มิถุนายน 2559
The Island Funeral มหาสมุทรและสุสาน กำหนดเข้าฉายวันที่ 21 กรกฏาคม 2559
ที่มาเรื่อง dontedition.com
ภาพจาก dontedition.com / Facebook theislandfuneral