ข่าว > ข่าวหนังทั้งหมด > ข่าวหนัง

20 เกร็ดหนังดีชวนรู้ ก่อนไปชม Son of Saul เจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำ

19 ก.พ. 2559 09:35 น. | เปิดอ่าน 1532 | แสดงความคิดเห็น
แชร์หน้านี้ แชร์หน้านี้
 

 

1. Son of Saul เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ ลาสโล เนเมช ผู้กำกับหนุ่มวัย 38 ปี

2. ลาสโล เนเมช เป็นชาวฮังกาเรียน มาเรียนต่อที่ปารีส จบด้านรัฐศาสตร์-ประวัติศาสตร์ และไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ ก่อนจะย้ายไปทำงานในสายภาพยนตร์ที่บ้านเกิด โดยทำตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ ให้กับหนังเรื่อง The Man from London ของสุดยอดผู้กำกับชาวฮังกาเรียน - เบล่าทาร์

3. แม้จะมีหนังว่าด้วยค่ายกักกันและสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกสร้างมาเป็นจำนวนมาก แต่ Son of Saul นับเป็นหนังเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ที่มีเนื้อหาพูดถึง กลุ่มซอนเดอร์คอมมานโด (Sonderkommando) หรือนักโทษชาวยิวที่ทำหน้าที่กวาดต้อนนักโทษคนอื่นๆ ไปห้องรมแก๊สและจัดการทำลายศพหลังจากรมแก๊สเสร็จสิ้น

4. คนที่จะมาทำหน้าที่ "ซอนเดอร์คอมมานโด" นั้น จะได้รับการคัดเลือกจากทหารนาซีโดยตรง และงานนี้นับเป็นงานที่ทำร้ายจิตใจมากงานหนึ่ง เพราะนักโทษชาวยิวจำเป็นต้องเห็นและคอยคุมเพื่อนร่วมเชื้อชาติเดินเข้าห้องแห่งความตาย (ห้องรมแก๊ส) ทุกวัน จากนั้นก็ทำลายศพด้วยการเผา หรือแยกชิ้นส่วนไปฝัง

 

 

5. "ซอนเดอร์คอมมาโด" จะได้รับอภิสิทธิ์กว่านักโทษคนอื่นๆ เล็กน้อย คือไม่ต้องโดนคุมตลอดเวลา สามารถไปไหนก็ได้ในค่ายกักกัน แต่ทว่าทหารนาซีก็จะฆ่าซอนเดอร์คอมมานโดทิ้งทุกๆ 3-4 เดือน เพื่อไม่ให้ข้อมูลเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แพร่งพรายออกสู่ภายนอก

6. Son of Saul เล่าเรื่องของ นักโทษชาวยิวฮังกาเรียนคนหนึ่งที่ชื่อว่า ชาอูล เขาทำหน้าที่ซอนเดอร์คอมมานโด วันหนึ่งเขาต้องทำลายศพที่เขาเชื่อว่าเป็นลูกชายของตนเอง เขาจึงตัดสินใจพยายามทำทุกอย่างเพื่อประกอบพิธีศพให้ลูกแบบถูกต้องตามหลักศาสนา นับเป็นภารกิจเสี่ยงตายมากๆ ในค่ายกักกัน

 

 

7. ฉากหลังใน Son of Saul คือ ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ ค่ายกักกันที่ถูกขนานนามว่า "โรงฆ่ามนุษย์ล้านศพ" นับเป็นค่ายที่ใหญ่และโหดเป็นลำดับต้นๆ ในบรรดาค่ายที่กองทัพนาซีใช้กักกันชาวยิว ว่ากันว่า มีชาวยิวถูกสังหารราว 1.1 ล้านคน ซึ่งเป็นชาวยิวที่ถูกกวาดต้อนมาจากทุกประเทศในยุโรป

 

 

8. ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ แห่งที่ 1 มีขนาด 40 ตารางกิโลเมตร มีอาคารคุมขังนักโทษเกือบ 20 หลัง และมีการขยายเป็นค่ายเอาช์วิตซ์ 2 และ 3 เพิ่มอาคารคุมขังเกือบ 100 หลัง

9. ชาวยิวที่ถูกต้อนมาอยู่ในค่ายกักกัน จะต้องใช้แรงงาน, ถูกใช้เป็นหนูทดลองทางการแพทย์อันแสนวิปริต, ถูกใช้เป็นเป้าซ้อมยิงปืน และท้ายที่สุด ชาวยิวทุกคนจะถูกเกณฑ์เข้าห้องรมแก๊สพิษในทุกๆ วันเพื่อกำจัด โดย "ซอนเดอร์คอมมานโด" จะเป็นคนทำหน้าที่กวาดต้อนเพื่อนนักโทษเข้าห้องรมแก๊ส และหลังจากทุกคนหมดลมหายใจแล้ว “ซอนเดอร์คอมมานโด” ก็จะต้องช่วยกันเผาศพ เคลียร์พื้นที่ เพื่อต้อนนักโทษกลุ่มต่อไปเข้ามา

 

 

10. ผู้กำกับ ลาสโล เนเมช ถ่ายทำหนังเรื่องนี้โดยใช้ฟิล์ม 35 มม. และใช้ขนาดภาพ (Aspect Ratio) 1.33 ต่อ 1 (คล้ายสี่เหลี่ยมจตุรัส) เพื่อเพิ่มความสมจริงให้กับหนัง

 

 

11. เกซ่า เรอห์ริก ผู้รับบท ชาอูล ตัวละครนำของเรื่องนั้น เป็น อาจารย์มหาวิทยาลัย, นักเขียนและกวีวัย 48 ปี เขาไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ แต่ลาสโล เนเมช บอกว่า เขาเลือกให้เรอห์ริกมารับบทนี้ เพราะเขาดูเป็นโนบอดี้ มีความเป็นธรรมชาติ และที่สำคัญ เกซ่า เรอห์ริก มีพื้นฐานความรู้เรื่องศาสนายิวเป็นอย่างดี (เขาเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ยิว)

 

 

12. ลาสโล ไรค์ ผู้ออกแบบงานสร้างของหนัง สร้างค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ขึ้นมาใหม่จากโกดังเก่าแถบชานเมืองกรุงบูดาเปสต์ (ฮังการี)ซึ่งที่แห่งนั้นเคยเป็นค่ายทหารของกองทัพโซเวียตตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

13. ฉากภายนอก ผู้กำกับเนเมช และผู้กำกับภาพมาเทียส แอร์ดลี ใช้แสงธรรมชาติ โดยไม่มีการจัดแสงเพิ่มเติม

14. หนังใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้น 28 วัน

15. Son of Saul นั้นเป็นเรื่องแต่ง แต่ข้อเท็จจริงเกือบทั้งหมดนั้นอ้างอิงมาจากหลักฐานจริง โดยมีพื้นฐานมาจากหนังสือ 2 เล่ม คือ Auschwitz: A Doctor’s Eyewitness Account หนังสือที่เขียนโดยหมอชาวยิวคนหนึ่งที่เป็นนักโทษในค่ายเอาช์วิตซ์ และหนังสือ Voices from Beneath the Ashes ซึ่งเป็นการรวบรวมบทบันทึกจริงๆ ของเหล่าซอนเดอร์คอมมานโดที่เขียนเก็บเอาไว้

16. ผู้กำกับ ลาสโล เนเมช อธิบายพล็อตเรื่องของ Son of Saul ว่า มันเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่ต้องการจะทำพิธีศพ พิธีกรรมเพื่อแสดงถึงความเป็นมนุษย์ ในสถานการณ์และสถานที่ที่ไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์เลยอย่างในค่ายกักกัน

17. Son of Saul เป็นโปรเจคต์ที่ไม่มีใครกล้าลงทุนเลย เพราะทุกคนมองว่าเป็นหนังที่เครียดและหดหู่เกินไป (และไม่มีทางได้ทุนคืน) เนเมชสร้างหนังเรื่องนี้ได้โดยเงินสนับสนุนจาก Hungarian Film Fund ของประเทศฮังการีบ้านเกิด โดยใช้ทุนสร้างไป 1.6 ล้านเหรียญฯ และเมื่อหนังออกฉาย Son of Saul ก็กลายเป็นหนังที่ได้ทั้งเงินและรางวัลอย่างคาดไม่ถึง

18. คลาร่า รอยเออร์ ผู้เขียนบทร่วมของ Son of Saul นั้นไม่เคยเขียนบทหนังมาก่อนเลย เธอเรียนจบสาขาวรรณกรรมยิว และจบสาขาประวัติศาสตร์ เธอตกลงใจมาร่วมงานเพราะลาสโล เนเมช เป็นคนชักชวน เนเมชบอกว่า เขาไม่อาจหาคนที่เข้าใจพื้นหลังทางประวัติศาสตร์ของเรื่องเป็นอย่างดีเท่ากับรอยเออร์อีกแล้ว

19. เอลี วีเซล (เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 1986), อิมเร เคอร์เทสซ์ (เจ้าของรางวัลโนเบลวรรณกรรมปี 2002) และโคลด ลองซ์มานน์ (ผู้กำกับสารคดีมหากาพย์ว่าด้วยค่ายกักกันเรื่อง Shoah) ทั้งหมดต่างยกย่อง Son of Saul ว่าเป็นหนังที่พูดถึงค่ายกักกันได้ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างเป็นหนังมาเลยทีเดียว

20. Son of Saul ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์ และรางวัล FIPRESCI (สมาคมนักวิจารณ์นานาชาติ) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2015 และล่าสุดได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนจากประเทศฮังการี ในการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ

 

: เกร็ดหนังดี, Son of Saul

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เกร็ดหนังดี ล้วงลึกก่อนดูภาพยนตร์ หม่อม
  • เกร็ดหนังน่ารู้ ก่อนดู Black Adam 20 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น!
  • เกร็ดภาพยนตร์ Vesper ฝ่าโลกเหนือโลก 6 ตุลาคม ในโรงภาพยนตร์
  • 6 เกร็ดหนังทวนความจำก่อนดู Fantastic Beasts: The Secrets Of The Dumbledore
  • เกร็ดเบื้องหลังน่าสนใจ Justice League จากปากของผู้กำกับฯ แซ็ค สไนเดอร์
  •  
     
     
    ร่วมแสดงความคิดเห็น
     
    ชื่อ :
     
    ความคิดเห็น :