หลังจากภาพยนตร์ Insects In The Backyard ของผู้กำกับ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ลงมติ ไม่ให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในราชอาณาจักร เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ล่าสุดวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองนัดพิจารณาคดีครั้งแรก โดย ผกก. กอล์ฟ ธัญญ์วาริน เปิดเผยว่า ตุลาการศาลปกครองแถลงคดีว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงปัญหาครอบครัวและสังคม ไม่ได้มีเจตนาในการยั่วยุอารมณ์ทางเพศ ซึ่งไม่น่าจะเข้าข่ายองค์ประกอบของการห้ามฉายในราชอาณาจักร และน่าจะเป็นลักษณะภาพยนตร์สำหรับผู้มีอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ทั้งนี้คำแถลงคดีของตุลาการศาลปกครองยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งศาลจะมีการนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งว่าจะให้ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกลับมาฉายหรือไม่ ในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 เวลา 09.30 น.
ทั้งนี้ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน ได้แถลงถึงเจตนารมณ์ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวว่า มีแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของตนเองที่เป็นเพศที่สาม ซึ่งสังคมไทยยังไม่เข้าใจในเรื่องความหลายหลายของเพศ และอาจนำไปสู่ปัญหาความแตกแยกในครอบครัว ส่วนคำพิพากษาจริงๆ จะออกมาอย่างไรก็ต้องลุ้นต่อไป คดีนี้แม้ผลคำพิพากษาจะชนะหรือแพ้ก็ยังวางบรรทัดฐานให้กับการพิจารณาภาพยนตร์ของไทย
และขณะเดียวกันทาง Facebook ของ iLaw ได้เผยรายละเอียดคดีที่ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งที่ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สั่งห้ามฉายภาพยนตร์ Insects in the Backyard เมื่อปี 2553 รายละเอียดตามด้านล่างครับ
"ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นควรเพิกถอนคำสั่งห้ามฉาย Insects in the Backyard ชี้หนังเจตนาสะท้อนสังคม เหมาะกับเรต 20+
ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครอง แถลงว่า Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์ที่มุ่งพูดถึงปัญหาครอบครัว เจตนาสะท้อนสังคม ไม่เข้าข่ายห้ามฉาย และเข้าลักษณะสำหรับผู้มีอายุ 20 ปี หรือเรต 20+ ซึ่งองค์คณะเจ้าของสำนวนพิจารณาควรเพิกถอนคำสั่งห้ามฉายและจ่ายค่าชดเชย 10,000 บาท
3 ธันวาคม 2558 ศาลปกครองนัดพิจารณาครั้งแรก คดีที่ธัญญ์วาริน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งที่ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สั่งห้ามฉายภาพยนตร์ Insects in the Backyard เมื่อปี 2553 โดยวันนี้มี สื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์ เข้าร่วมการฟังการพิจารณาคดี กว่า 20 คน
ประมาณ 10.30 น. เริ่มการพิจารณาโดยตุลาการเจ้าของสำนวนคดี แถลงสรุปข้อเท็จจริงในคดี จากนั้นจึงให้ผู้ฟ้องคดีแถลงข้อเท็จจริงด้วยวาจา ธัญญ์วาริน หรือกอล์ฟ ผู้กำกับและนักแสดงนำ แถลงถึงเจตนารมณ์ที่สร้างภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ว่ามีแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของตัวเอง ที่เป็นเพศที่สาม ซึ่งสังคมไทยยังไม่มีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และเจตนาให้สังคมเห็นปัญหาความไม่เข้าใจอันเป็นสาเหตุของปัญหาความแตกแยกในครอบครัว
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้รับมอบอำนาจ แถลงประเด็นข้อกฎหมาย โดยชี้ว่า คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้เหตุผลเพียง "ขัดต่อศีลธรรมอันดี" แต่ไม่ระบุว่าขัดต่อศีลธรรมตรงเนื้อหาส่วนไหนของภาพยนตร์, กรรมการของคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติบางท่าน ไม่ได้รับชมภาพยนตร์ก่อนลงมติห้ามฉาย จึงเห็นว่ากรรมการไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เพียงพอก่อนการออกคำสั่งห้ามฉาย และไม่มีการเสนอให้ตัดทอนภาพยนตร์ก่อน จึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี มีตัวแทนมาศาล ได้แก่ นิติกรของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ตัวแทนคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และตัวแทนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยทั้งสามคนไม่แถลงด้วยวาจาเพิ่มเติม เพราะข้อเท็จจริงทั้งหมดได้ส่งให้ศาลก่อนหน้านี้แล้ว
จากนั้นตุลาการผู้แถลงคดี แถลง สรุปความได้ว่า Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์ที่มุ่งพูดถึงปัญหาครอบครัว มีเจตนาสะท้อนสังคม แม้จะมีฉากที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ และมีฉากเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์หลายฉาก แต่ก็เป็นเพียงภาพที่ใช้ในการดำเนินเรื่อง ไม่ใช่สาระสำคัญของภาพยนตร์ และภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีเจตนายั่วยุทางกามรมณ์ ภาพยนตร์ที่มีฉากการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศสามารถจัดให้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามฉาย หรือห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู (20+) ก็ได้
ซึ่งเมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงจะเห็นว่า ภาพยนตร์ประเภทห้ามฉาย จะต้องเข้าลักษณะที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างร้ายแรง หรือเป็นเรื่องยั่วยุทางกามารมณ์ ส่วนหลักเกณฑ์สำหรับภาพยนตร์ประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู (20+) มีลักษณะเป็นภาพยนตร์ที่มีบางส่วนบางตอนอาจกระทบต่อสังคม ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard มีลักษณะเป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู (20+) การที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งห้ามฉายจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดี จึงมีความเห็นว่าองค์คณะเจ้าของสำนวนควรพิจารณาให้เพิกถอนคำสั่งห้ามฉาย ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน 400,000 บาทนั้น เห็นว่าสูงเกินไป จึงพิพากษาให้ตามสมควร ให้จ่ายค่าชดเชย 10,000 บาท
หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาธัญญ์วาริน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนด้วยความดีใจทั้งน้ำตา ว่า พอใจกับคำแถลงของศาล ที่เข้าใจเจตนารมณ์ของหนัง ว่าต้องการสะท้อนปัญหาสังคมในเรื่องเพศ และไม่มีเจตนาจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ เสื่อมเสียต่อสังคม หลังจากรอมาห้าปีก็รู้สึกดีใจที่มีคนเข้าใจ ส่วนคำพิพากษาจริงๆ จะออกมาอย่างไรก็ต้องลุ้นต่อไป คดีนี้แม้ผลคำพิพากษาจะชนะหรือแพ้ก็ยังวางบรรทัดฐานให้กับการพิจารณาภาพยนตร์ของไทย
นับตั้งแต่ประเทศไทย มีพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งการห้ามฉายภาพยนตร์ คำพิพากษาของศาลปกครองอาจวางบรรทัดฐานเรื่องวิธีการให้เหตุผลประกอบคำสั่งห้ามฉาย ความแตกต่างของของการสั่ง "ห้ามฉาย" กับ "ไม่อนุญาตให้ฉาย" ตามมาตรา 26 และ 29 รวมทั้งอาจวางกรอบการตีความคำว่า "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งที่ผ่านมาเป็นอำนาจของคณะกรรการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีในวันนี้ ยังไม่ใช่คำวินิจฉัยที่ถึงที่สุด เป็นเพียงข้อเสนอแนะต่อตุลาการที่เป็นองค๋คณะในคดีเท่านั้น โดยตุลาการเจ้าของสำนวนนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 เวลา 9.30 น."
ที่มา iLaw