The Down ภาพยนตร์เรื่องแรกของ a day ที่จะถ่ายทอดชีวิตจริงของเหล่าวัยรุ่นดาวน์ซินโดรม ทั้งสุข ทุกข์ น่ารัก ตลก ซึ้ง และสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับทุกคน จากการริเริ่มของ โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ซึ่งใน Facebook Fanpage ของภาพยนตร์ได้เปิดเผยถึงที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้จาก โหน่ง วงศ์ทนง หรือ โหน่ง อะเดย์ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ
"จุดเริ่มแห่งแรงบันดาลใจ"
สวัสดีทุกคนครับ ผมโหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ หรือที่หลายคนมักเรียกว่า ‘โหน่ง อะเดย์’ จนมีบางคนเข้าใจผิดว่า คำว่า ‘อะเดย์’ คือชื่อหรือไม่ก็นามสกุลจริงๆ ของผม ไม่ได้พูดเล่นนะครับ ผมเจอหลายครั้งเลยที่มีคนเข้ามาทัก แล้วเรียกผมว่า "คุณอะเดย์" อาชีพหลักของผมคือทำสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งนิตยสารและหนังสือ ได้แก่ a day, a book, HAMBURGER, a day BULLETIN, a day BULLETIN LIFE, polkadot, Human Ride) แต่ในช่วง 6-7 ปีให้หลัง บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ของพวกเรา แตกสายไปทำ ‘สื่อ’ อื่นๆ หลายประเภท ทั้งรายการโทรทัศน์ เช่น หนึ่งวันเดียวกัน, The Idol คนบันดาลใจ, Humam Ride จักรยานบันดาลใจ, ไทยเท่ และงานอีเวนต์ อย่าง a day Bike Fest, Human Run, Interview Day เรียกว่าจากที่เคยเป็น ‘Print Maker’ ทุกวันนี้ positioning ของพวกเราขยายขอบเขตไปเป็น ‘Content Provider’ ที่นำเสนอ ‘เนื้อหา’ ผ่าน media ต่างๆ ที่หลากหลายและครอบคลุมสื่อทุกประเภท
‘ภาพยนตร์’ เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ผมสนใจมานานมาก แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำเสียที จำได้ว่าหลายปีก่อนเคยมีนิตยสารฉบับหนึ่งมาสัมภาษณ์ เขาถามผมว่า ผมยังมีฝันอยากทำอะไรอีก ผมตอบไปว่า "อยากทำหนังสักเรื่อง" ตอนที่ตอบไปอย่างนั้น ยังนึกไม่ออกหรอกครับจะทำหนังเกี่ยวกับอะไร หรือจะทำเมื่อไหร่ แค่คิดว่าอยากทำก็เท่านั้น จากวันนั้น เวลาผ่านไปหลายปี ถึงวันนี้ ผมได้ทำหนังอย่างที่ฝันไว้แล้วล่ะครับ
แรงบันดาลใจที่ผลักให้ผมลุกขึ้นมาทำหนังเรื่องแรกในชีวิต มาจากเมื่อสองปีที่แล้ว ผมได้ไปเที่ยวอิตาลีหลายเมือง ทั้งโรม ฟลอเรนซ์ นาโปลี ซอเรนโต้ ตลอดเวลาหลายวันที่ได้ไปเที่ยวตามโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งนั่งกินข้าวในร้านอาหาร และโดยสารรถไฟใต้ดิน ผมได้พบเจอคนเป็น ‘ดาวน์ซินโดรม’ หลายคนหลายครั้ง พวกเขาออกมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติธรรมดาทั่วไป ที่น่าสนใจกว่านั้น ผมแอบสังเกตว่า สายตาของคนทั่วไปที่มองคนเป็นดาวน์ฯ ก็เป็นสายตาที่มองคนปกติทั่วไป นั่นทำให้ผมแปลกใจว่า อิตาลีมีคนเป็นดาวน์ฯ เยอะหรืออย่างไร ผมลองมาเสิร์ชดูข้อมูล พบว่าอิตาลีเป็นประเทศที่ดูแลคนเป็นดาวน์ซินโดรมดีมาก มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจัดตั้งขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว การเสิร์ชข้อมูล ทำให้ผมได้ดูวิดีโอคลิปเรื่องหนึ่ง จัดทำโดยองค์กร CoorDown ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับคนเป็นดาวน์ซินโดรม คลิปนั้นเล่าว่า มีคุณแม่คนหนึ่งที่กำลังตั้งครรภ์ เกิดความกังวลว่าลูกที่กำลังจะเกิดมา อาจเป็นดาวน์ซินโดรม เธอรู้สึกเป็นทุกข์มากขึงเขียนจดหมายมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร
องค์กร CoorDown จึงจัดทำคลิปที่มีชื่อว่า ‘Dear Future Mom’ ขึ้น โดยไปถ่ายเด็กดาวน์ซินโดรมทั้งชาย-หญิงหลายคน ว่าพวกเขาทำอะได้บ้าง คำตอบคือ พวกเขาทำอะไรได้มากมายกว่าที่เราคิด เขาอ่านหนังสือได้ เรียนหนังสือได้ ซ่อมจักรยานได้ ทำงานหาเงินได้ เช่าอพาร์ตเมนต์อยู่คนเดียวได้ พาแม่ไปดินเนอร์ได้ กอดได้ บอกรักได้ แม่ไม่ต้องเป็นห่วง ผมดูคลิปนี้แล้วน้ำตารื้น กลับเมืองไทย ผมคุยกับ เป้ง-ทรงพล จั่นลา และ อีฟ-จริยา มุ่งวัฒนา ซึ่งดูแล a day TV อยู่ เล่าเรื่องนี้ให้พวกเขาฟัง แล้วเสนอว่า น่าจะทำเป็นรายการโทรทัศน์ ลองไปหาข้อมูลให้หน่อยว่า ประเทศไทยมีคนเป็นดาวน์ซินโดรมมากน้อยแค่ไหน ทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นเขาในชีวิตประจำวัน พวกเขาอยู่กันสุขสบายดีหรือ ครอบครัวของพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง
หลายวันต่อมา อีฟเอาข้อมูลมาบอกกับผมว่า เมืองไทยไม่ใช่มีคนเป็นดาวน์ซินโดรมน้อย จริงๆ แล้วมีหลายแสนคน อัตราเกิดของเด็กทารกที่เป็นดาวน์ซินโดรมต่อปี อยู่ระหว่าง 800-1,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่สูงไม่น้อย ส่วนเหตุผลที่เราไม่ค่อยเห็นคนเป็นดาวน์ฯ ในชีวิตประจำวัน มีหลักๆ สองสาเหตุ สาเหตุแรก พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเป็นดาวน์ฯ เป็นห่วงลูกหลาน กลัวว่าจะดูแลตัวเองไม่ได้ จึงไม่ค่อยได้พาไปไหนหรือให้ออกไปไหนเอง ส่วนเหตุผลที่สอง...น่าเศร้ากว่านั้นครับ พ่อแม่ ‘บางคน’ รู้สึกอายที่มีลูกเป็นดาวน์... ฟังแล้วผมรู้สึกสะท้อนใจ และนั่นก็เป็นที่มาที่ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอยากทำ ‘สื่อ’ สักอย่าง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนเป็นดาวน์ซินโดรม ให้เกิดแก่ผู้คนในสังคม และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่อง ‘เดอะดาวน์’ ครับ
ที่มา The Down Movie Fanpage