นางสาวสิริทร สิทธิวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด (JARKEN group of companies) ร่วมกับนายแพทย์ ธีระ วรธนารัตน์จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับรางวัล Asia Responsible Entrepreneurship - Southeast Asia 2014 สาขา Health Promotion กับโครงการ “สถาปัตย์บำบัด” ณ ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดย Enterprise Asia (NGO) องค์กรที่ส่งเสริมการทำประโยชน์แก่สังคม โดยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งในปีนี้มีเพียง 6 องค์กรจากไทยที่ได้รับรางวัล อาธิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จํากัด จากการคัดเลือกจากกว่า 200 บริษัท ใน 11 ประเทศที่มีแนวคิดและมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจโดดเด่นด้าน CSR ในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม “สถาปัตย์บำบัด (Architectural Therapy) คือการประยุกต์และพัฒนาความรู้ทางสถาปัตยกรรม ควบคู่กับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ เพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในอาคารที่พักอาศัยควบคู่กับการใช้สอยทางสถาปัตยกรรมได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น และบรรเทาอาการของผู้ป่วยทุกรายให้หายจากโรคเจ็บป่วยทั้งทางกายและใจ ตลอดจนช่วยแบ่งเบาภาระสำหรับญาติผู้ป่วยด้วยเช่นกัน” นางสาวสิริทร กล่าว
แนวคิดการออกแบบบ้านแบบองค์รวมแนวใหม่นี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ซึ่งเราเห็นว่ากลุ่มผู้ป่วย และสังคมผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นทุกๆวัน เมื่อเกิดการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษา ไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังและโรคแทรกซ้อนต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือประสบอุบัติเหตุที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกาย อาจไม่สามารถบำบัดโดยใช้ยารักษาโรคได้อย่างเดียว แต่ต้องบำบัดรักษาโดยใช้สถานที่พักอาศัย ซึ่งเป็นอีก 1 ในปัจจัย 4 เป็นตัวช่วย
นางสาวสิริทร เสริมว่า “ระดับความสูงของขั้นบันได หรือ การวางเฟอร์นิเจอร์ต่างๆที่ไม่เหมาะสม สามารถส่งผลให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดสะโพก หรืออาการป่วยบางประเภทมีอาการหายช้า หรือกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับแพทย์หรือพยาบาล ไม่ว่าจากโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลรัฐที่จะดูแลรักษาไปถึงสิ่งแวดล้อมในสถานที่พักอาศัยของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างสถาปนิก อินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ หรือวิศวกรเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องยากสำหรับสถาปนิกหรืออินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ที่จะออกแบบหรือให้คำแนะนำผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆได้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา เราเชื่อว่าการทำโครงการนี้จะเป็นองค์ความรู้ใหม่เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับวงการวิชาชีพทั้ง 2 ได้อย่างดี และกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุได้ดียิ่งขึ้น”