ข่าว > ข่าวหนังทั้งหมด > ข่าวหนัง

บทสัมภาษณ์ 4 ผู้กำกับ 4 ภาพยนตร์สั้น ในโปรเจกต์ "ของขวัญ"

20 ต.ค. 2560 17:33 น. | เปิดอ่าน 1522 | แสดงความคิดเห็น
แชร์หน้านี้ แชร์หน้านี้
 

"นนทรีย์ นิมิบุตร"
(โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์)

 

แรงบันดาลใจ-ที่มาที่ไปของโปรเจกต์ "ของขวัญ"

โปรเจกต์เรื่อง "ของขวัญ" นี้คือเราได้รับแรงบันดาลใจจาก "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9" มาโดยตลอดทั้งจากในพระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน และพวกเราคนทำหนังเองก็จะมีส่วนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระองค์ท่านเหมือนกันในการที่เราจะทำงานอย่างหนักเพื่อทำสิ่งทีดีที่สุดไว้ให้กับคนดู เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันที่เราทุกคนพยายามทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจ ส่งต่อสิ่งที่ท่านทำไว้ให้กับคนไทยทุกคนผ่านสื่อภาพยนตร์ที่เราถนัดครับ มันคือการใช้คำสอนของพระองค์ท่านมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตของทุก ๆ คน เราก็นำเอาคอนเซปต์นี้มาแบ่งเป็น 4 เรื่อง จากความร่วมมือของ 4 ผู้กำกับ ก็จะมี ผม (อุ๋ย นนทรีย์), คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว, คุณโขม ก้องเกียรติ และคุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ ซึ่งทุกคนก็มีความเต็มใจและพร้อมที่จะทำภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างมาก และได้สหมงคลฟิล์ม และคุณสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ เป็นโปรดิวเซอร์ใหญ่ในการสนับสนุนพวกเราให้ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ร่วมด้วยโรงภาพยนตร์คุณภาพจากทั่วไทยที่จะพร้อมใจกันส่งต่อ "ของขวัญ" ชิ้นนี้ให้ถึงหัวใจคนดูทั้งประเทศ

เป็นหนังสั้น 4 เรื่องที่แบ่งคอนเซปต์แต่ละภาคเพื่อส่งต่อให้ถึงคนดูทั้งประเทศ

ใช่ครับ พอเริ่มต้นโปรเจกต์นี้ ทุกคนก็เห็นด้วยกับคอนเซปต์ของการทำงาน แล้วก็มานั่งประชุมกันว่าจะแบ่งงานกันอย่างไร ใครถนัดจะทำในส่วนไหนอย่างไร ซึ่งก็ค่อนข้างจะชัดเจนในส่วนของผู้กำกับ 4 คนนี้ คุณมะเดี่ยวเป็นคนเหนือก็จะรับงานทางภาคเหนือไป คุณโขมจะถนัดงานทางภาคใต้ พี่ปรัชเป็นคนอีสานอยู่แล้วก็จะรับในฝั่งอีสานไป สุดท้ายผมก็ได้ทำงานในส่วนของภาคกลางไป

 

The Letter
(กำกับโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว)

 

ความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้

ผมรู้สึกว่าเป็นใครก็รู้สึกอยากจะมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์ "ของขวัญ" นี้ เราในฐานะผู้กำกับฯ และสหมงคลฟิล์มฯ อยากจะทำในโอกาสพิเศษนี้ การที่เรามีส่วนในการกำกับนี้แทบจะไม่ต้องถามเลย ผมว่ามันเป็นหน้าที่และเป็นโอกาสที่ดีที่อยากจะเล่าหรือบอกอะไร จริง ๆ ผมก็เคยทำงานลักษณะนี้มาอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน แต่ว่าโปรเจกต์นี้มันมีความแตกต่างจากที่เคยทำมา คือเราจะคุ้นเคยกับภาพยนตร์ที่พูดถึงงานที่พระองค์ได้จัดตั้งและทำให้เกิดขึ้นมาเยอะมาก ผมว่าคนไทยทุกคนรู้ซึ้งดี เราก็เลยต้องทำยังไงให้พูดถึงในมุมอื่นที่เราจะไม่ค่อยเห็นในภาพยนตร์เหล่านี้ เพราะฉะนั้นโปรเจกต์เริ่มต้นคือ เราจะมองไปข้างหน้า ซึ่งอาจจะได้จากที่พระองค์ท่านสอนหรือว่างานที่พระองค์ท่านทำไว้เนี่ยซึ่งก็เปรียบเสมือน "ของขวัญ" ล้ำค่าที่สามารถส่งต่อให้กันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเดินต่อไปข้างหน้า

เรื่องราวของ "The Letter"

คือในส่วนของผมก็ใช้เวลาอยู่นานในการหาเรื่องที่จะมาเล่า ผมอยากจะเล่าเรื่องผ่านเด็กอีสานคนหนึ่งที่เค้ามีความรู้สึกและเข้าใจว่าเค้าทำไปเพราะอะไร และพอถึงวันที่พระองค์ท่านไม่อยู่ เด็กคนนั้นเค้าจะทำอะไร ผมเล่าเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่อยากจะเขียนจดหมายถึงพระองค์ท่าน จากจดหมายฉบับนั้นก็จะบ่งบอกถึงความรู้สึกที่เค้าอยากจะแสดงความรู้สึกบางอย่างต่อพระองค์ท่าน มันทำให้เกิดเรื่องเกิดราว ออกเป็นแนวผจญภัยเล็ก ๆ ในมุมของเด็ก เด็กอาจมองเป็นเรื่องเล็กสำหรับเค้า แต่ในสายตาผู้ใหญ่มันเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน ตรงนี้มันทำให้หนังมันน่าจะมีความน่าสนใจที่เราเป็นผู้ใหญ่มองไปก็อาจจะเกิดความรู้สึกว่าน่าเป็นห่วงในเรื่องของเด็ก แต่ว่าสิ่งที่เด็กทำไปมันก็เป็นเรื่องเล็ก ๆ ตามที่เด็กเค้ามอง

การถ่ายทำ

เราก็ต้องไปถ่ายทำที่อีสาน แล้วก็รวมทั้งที่กรุงเทพฯ การถ่ายทำก็ราบรื่น เพราะตัวละครหลักของผมก็มีเด็กคนเดียวเลย ที่เหลือก็เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเด็กเราก็เลือกการแสดงและบุคลิกหน้าตาก็ได้อย่างที่จินตนาการไว้ เด็กคนนี้ (น้องธรรมะ) ก็เก่ง ทำหน้าที่ได้ดี สมาธิอาจจะสั้นบ้างตามประสาเด็ก แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ ราบรื่น การถ่ายทำก็มีความสุข คือทุกครั้งที่ทำหนังเกี่ยวกับพระองค์ท่าน มันจะมีความรู้สึกพิเศษเกิดขึ้น ทุกคนทั้งทีมงานเบื้องหลัง รวมทั้งชาวบ้านหรือว่าใครที่มามีส่วนในการทำงานเรื่องนี้ มันจะเป็นความรู้สึกพิเศษจริง ๆ

เสน่ห์และความน่าสนใจโดยรวมของเรื่องนี้

หนังผมจะเป็นการผจญภัยใส ๆ เหมือนดูหนังดิสนีย์ แต่ว่าสิ่งที่เด็กได้รับหรือว่าความรู้สึกที่ได้รับในตอนท้ายนี่มันต้องยิ่งใหญ่ให้สมกับเรื่องราวที่เราพูดถึงพระองค์ท่าน โปรเจกต์นี้ผมว่าน่าสนใจที่เราจะได้ดูว่ามุมมองของผู้กำกับทั้งสี่คนนี้จะเล่าเรื่องออกมายังไง และที่สำคัญที่สุดคือโปรเจกต์นี้จะสร้างความแตกต่างจากหนังลักษณะนี้ที่เราเคยคุ้นตากันยังไงบ้าง ผมว่าเรื่องนี้สิ่งพิเศษอย่างหนึ่งก็เป็นการส่งท้ายหลังจากที่เรามีพิธีสำคัญสำหรับพระองค์ท่านเสร็จสิ้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเป็นรอยต่อที่ดีครับ

 

ดอกไม้ในกองขยะ
(กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร)

 

เรื่องราวของ "ดอกไม้ในกองขยะ"

คือผมก็พยายามจะหาสัญลักษณ์หรือตัวแทนของคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรืออยู่ในภาคกลาง ก็พยายามจะหาว่า โดยอาชีพไหน โดยคนประเภทไหน โดยอายุขนาดไหนที่จะสะท้อนภาพความเป็นไปของสังคมนี้ แล้วเราก็จะพูดถึงสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ ในสังคมนี้ที่มันเคยเกิดในกรณีต่าง ๆ นานา ที่มันเคยเป็นประเด็นในสังคมที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน ก็พยายามหยิบจับเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาประกอบกันเพื่อจะให้เห็นว่า จริง ๆ

แล้วในภาพของสังคมโดยรวมของกรุงเทพฯ ของภาคกลางเราเนี่ยมีหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มันดีหรือเลวร้ายที่มันเกิดในสภาพความเป็นอยู่ของพวกเราในปัจจุบัน เราจะแก้ไขมันไปด้วยอะไร "ดอกไม้ในกองขยะ" ก็เหมือนความงดงามที่อยู่ในความสกปรก ความงดงามของดอกไม้สำหรับผม มันเปรียบเหมือนความรักที่มันอยู่บนกองขยะที่ทุกคนไม่เอา สิ่งที่ทุกคนทิ้ง ที่ทุกคนว่าน่ารังเกียจ แต่มันมีความงดงามอยู่ในนั้น ถ้าครอบครัวเราอบอุ่น มีความรักกัน มันก็จะทำให้ไม่ว่ามันจะเกิดอุปสรรคอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายอะไรขึ้นก็ตาม ความรักจะทำให้ทุกอย่างมันผ่านพ้นไปได้ด้วยดี หนังเรื่องนี้ก็จะเริ่มต้นคิดแบบนี้

ถ้าเราพูดถึงคนที่เป็นตัวแทนขององค์กรเล็ก ๆ ในสังคมอย่าง "คนที่มีอาชีพเก็บขยะ" หน้าที่ความรับผิดชอบของเค้าคือจัดการของที่ทุกคนทิ้งให้มันเข้าที่เข้าทาง ผมว่าเค้ามีความเสียสละเพื่อพวกเราเพื่อจะไม่ให้บ้านเมืองสกปรก ผมรู้สึกอย่างนั้นก็เลยหยิบเอาชีวิตของเค้ามาพูดถึงในหนังเรื่องนี้ โดยรูปลักษณ์คนเก็บขยะคือเค้าทำในสิ่งที่ทุกคนรังเกียจ แต่ไอ้ความงามที่มันซ่อนอยู่ในนั้นต่างหากที่เรากำลังจะบอกว่าอย่ามองคนแค่ภายนอก จริง ๆ แล้วภายในเค้าอาจจะเป็นคนที่จิตใจดีกว่าที่เราคิดก็ได้

ความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้

ตั้งแต่การเขียนบท ลงรายละเอียด การช่วยกันคิดช่วยกันวางดีเทล การรีเสิร์ชต่าง ๆ จนกระทั่งถึงตอนถ่ายทำ ผมรู้สึกว่าผมมีความอบอุ่นประหลาดอย่างบอกไม่ถูก แรงบันดาลใจในการทำเรื่องนี้มันเต็มร้อยเต็มเปี่ยมจริง ๆ ทุกนาทีที่เราทำงานเรารู้สึกว่าพยายามที่สุดที่จะไม่พลาดอะไร พยายามที่สุดที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันดู แม้กระทั่งนักแสดงเองก็ต้องลงมานั่งคุยกันทุกฉากว่า แค่นี้เราคิดว่าพอหรือยัง หรืออยากจะลองแบบนี้อีกมั้ย เพิ่มอีกหน่อยมั้ย ทุก ๆ คนพยายามจะทำหนังเรื่องนี้ในรายละเอียดให้มันสวยงามที่สุด ช่วยกันดีไซน์ให้มันสนุกขึ้นกว่าบทที่เราเขียนไว้ ซึ่งตอนเป็นบทเราก็รู้สึกว่ามันโอเคแล้ว แต่พอทำงานจริง ๆ มันสนุกกว่าบทเยอะเลย ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การเลือกมุมกล้อง การถ่ายทำ การไปเลือกโลเคชั่นในการทำงาน คือทุกคนก็จะช่วยกันทำให้หนังเรื่องนี้มันประสบความสำเร็จบนเวลาที่จำกัด

ทีมนักแสดง

คือผมเขียนบทกับน้องคนหนึ่งเมื่อเขียนออกมาเสร็จแล้ว ผมก็นึกถึงน้องชายของผมคนหนึ่งที่เคยร่วมงานกันมานานแล้ว และก็สนิทสนมกันมาก ผมเคยทำมิวสิควิดีโอให้เค้า และเค้าก็เคยมาเป็นผู้ช่วยในการทำหนังของผมหลายเรื่องคือ คุณเอ็ม-สุรศักดิ์ วงษ์ไทย เออ เค้าหายไปนานเนอะ ผมคิดถึงเค้า แล้ววันนึงผมก็เห็นเค้าโพสต์รูปในเฟซบุ๊ก ผมก็นึกถึงเค้าว่าเราไม่ได้ทำงานด้วยกันมานานแล้ว ผมเลยโทรไปหาเค้าเลยว่าอยากเล่นหนังอีกมั้ย เค้าบอกว่าไม่ถนัดเล่นอีกแล้ว เค้าอยู่เบื้องหลังมานานแล้ว ผมบอกว่า ลองดูเถอะ ทำหนังเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกัน พอพูดอย่างงี้ เค้าก็โอเค ยินดีเลยที่จะมาเล่น

แล้วเราก็ได้ น้องเฟรช-อริศรา วงษ์ชาลี มาช่วยทำให้หนังมันมีสีสันมากขึ้น แล้วก็ได้น้องอีกสองคนมาเล่นเป็นลูก ๆ ซึ่ง น้องพรีม ชนิกานต์ ผมเคยเห็นผลงานเค้าใน ตุ๊กแกรักแป้งมาก และก็ในละครหลาย ๆ เรื่อง ผมคิดว่าเค้าน่าสนใจ แล้วพอมาทำงานก็จริง ๆ ด้วย น้องเก่งมากในการเข้าใจบทบาทในการเป็นนักแสดง

ส่วน น้องโอม ธนาภัค ผมเคยทำงานกับเค้าตอนอายุ 8 ขวบ แล้วผมก็นึกถึงเค้าว่าตอนนี้โตขึ้นมาจะเป็นยังไง แล้วก็ยังคงฝีไม้ลายมือเหมือนอย่างที่เราเคยทำงานกับเค้า นึกว่าเค้าโตขึ้นแล้วจะลืมเลือนการแสดง แต่ปรากฏว่ายิ่งโตเค้ายิ่งเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นแคสต์ที่ผมแฮปปี้มากที่ได้ทั้งสี่คนมาร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ครับ

เสน่ห์ความน่าสนใจโดยรวมของเรื่องนี้อยู่ตรงจุดไหนบ้าง

ผมรู้สึกว่าสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ของหนังเรื่องนี้คือ การสะท้อนภาพที่เป็นมาเป็นไปของสังคมในปัจจุบันนี้ ซึ่งเราพยายามที่จะสะท้อนให้ภาพนี้มันชัดเจนที่สุด ผมอยากให้คนดูหนังเรื่องนี้แล้วมันสามารถจะกระตุ้นความรู้สึกบางอย่าง หรือให้ฉุกคิดในเรื่องบางเรื่อง หรือทำให้สิ่งที่พวกเขาหาทางออกไม่ได้ให้มันผ่านพ้นไปได้ คนไทยได้รับ "ของขวัญ" ที่ดีที่สุดที่เต็มไปด้วยความรักและความดีงามที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างพลังชีวิตในทุก ๆ ด้าน ในทุก ๆ วันมากว่า 70 ปีไม่เคยขาดจากพ่อที่พวกเรารักที่สุด วันนี้ผมอยากให้หนังสั้น 4 เรื่องนี้เป็นตัวแทนในการส่งต่อ "ของขวัญ" ให้คนที่รักพ่อเพื่อเป็นพลังและแรงขับเคลื่อนในการมีชีวิตอยู่ของพวกเรากันต่อไป

 

สัจจะธรณี
(กำกับโดย ก้องเกียรติ โขมศิริ)

 

แรงบันดาลใจของเรื่องนี้

ตั้งแต่คุยกับ "พี่อุ๋ย นนทรีย์" ที่เป็นโปรดิวเซอร์เรื่องนี้ด้วย เราก็ไม่อยากทำเรื่องที่มันเศร้าอย่างเดียว อยากจะทำโปรเจกต์ที่มันเป็นเรื่องของการก้าวไปข้างหน้า การมอบของขวัญ การส่งต่อความดี การอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่อย่างเข้าใจถ่องแท้และเดินทางไปข้างหน้าอย่างมั่นใจด้วยองค์ความรู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยมอบไว้ให้ผืนแผ่นดินนี้ เราก็นำความรู้เหล่านั้นมาพูดถึงในแง่ของการทำหนังว่าเราจะเล่าเรื่องของพระองค์ยังไงดี โดยที่ไม่ใช่แค่การตอกย้ำความสูญเสีย แต่มันคือการก้าวไปข้างหน้าและการบอกต่อ อันนี้ในฐานะคนทำหนังแล้วเราเชื่อว่ามันเป็นภารกิจที่จำเป็น ผมได้ในส่วนของภาคใต้ ก็อาจจะเป็นเพราะผมเคยทำหนังที่เกี่ยวกับคนใต้ ซึ่งก็เลยรับหน้าที่ในส่วนของภาคใต้ครับ

เรื่องราวของ "สัจจะธรณี"

ธีมหลักของเรื่องคือ การตามหารากเหง้าของพ่อและของตัวเอง และได้เข้าใจในที่สุดว่าเรามาจากไหนกันแน่ พล็อตนี้มันถูกประกอบด้วยหลายคน คือจริง ๆ แล้ว ทางพี่อุ๋ยส่งเป็นพล็อตสั้น ๆ มาให้ก่อน เราก็คิดว่ามันมีเหลี่ยมมุมที่น่าสนใจ แต่ที่เหลือเราก็มาขยายมาปรับ ด้วยคาแรคเตอร์ของเราด้วยแล้ว เราก็อยากให้มันดูชัดถ้อยชัดคำมากกว่า เพราะฉะนั้นเราก็เลยปรับโครงสร้างเรื่องให้มันเข้ากับเรื่องดินอย่างที่เราสนใจ เรื่องราวก็จะพูดถึงว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เราจะเดินทางหาตัวตนที่แท้จริงของเราเจอหรือไม่ บางทีมันไม่สำคัญเท่าเราเข้าใจหรือเปล่าว่าทั้งหมดมันคือการสมมติขึ้นทั้งนั้น แต่ดินต่างหากที่ไม่เคยโกหกใคร ในหลวงจึงพัฒนาดิน คอนเซปต์หลัก ๆ ก็มาจากชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่แปลว่า "พลังของแผ่นดิน" เราก็เลยรู้สึกว่าการเล่นเรื่องดินเนี่ย น่าจะเป็นการพูดถึงสิ่งที่มีอยู่และไปข้างหน้าอย่างมั่นคงมากกว่า การไปข้างหน้ามันอาจไม่ได้พูดถึงเชิงเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ถ้าเราเข้าใจมันอย่างถ่องแท้แล้วเราก็จะไปข้างหน้าได้จริง ๆ

ทีมนักแสดง

เรื่องนี้เราก็ได้ คุณชายเอี่ยว-ม.ร.ว.มงคลชาย ยุคล มาแสดงเป็นพ่อที่เป็นชาวมุสลิมที่เป็นตัวปริศนาของเรื่อง, เอ-อัญชลี หัสดีวิจิตร มาเล่นเป็นแม่ที่เก็บงำความลับไว้, แล้วก็ได้น้องนางเอกใหม่ บีม-ณัชชาภัทร แสงฤทธิ์ มาเล่นเป็นตัวลูกสาววัยรุ่นที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่แม่เป็นอยู่และพยายามตามหารากเหง้าครอบครัวตัวเอง เธออยากรู้ว่าจริง ๆ แล้วพ่อเป็นคนยังไงกันแน่ ทำไมคนในพื้นที่ถึงมองว่าพ่อเป็นคนไม่ดี ก็เลยดิ้นรนจนมาเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น อีกคนคือ แม็กกี้-ศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์ ที่ร่วมงานกันมาหลายเรื่องละ เรื่องนี้ก็มาช่วยผมเขียนบทด้วย ก็เป็นทีมนักแสดงที่ถือว่าลงตัวของเรื่องนี้ครับ

ความน่าสนใจโดยรวมของเรื่องนี้

เราว่าผู้กำกับทั้ง 4 คนนี้มีสิ่งที่อยากจะพูดถึง ที่คุยกันไว้ตั้งแต่แรกเลยคือมีความโดดเด่น ซึ่งแง่ของความเป็นหนัง ความเป็น Cinema มันน่าจะมีการใช้เทคนิคที่เราถนัด ในฐานะคนทำหนังเราก็ควรจะรับผิดชอบด้วยความสามารถที่เรามี เพราะฉะนั้นมันก็จะมีความเป็นหนังขึ้น เราเชื่อในฝีไม้ลายมือแต่ละท่าน และก็ได้เล่าเรื่องในภูมิภาคของตัวเองด้วยกรอบความคิดที่ไม่ได้ Fix และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นการตีโจทย์ที่ให้เราคนทำงานและผู้กำกับหลาย ๆ คนพร้อมจะตีความและก็สร้างสรรค์มันได้ดี

 

เมฆฝนบนป่าเหนือ
(กำกับโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล)

 

แรงบันดาลใจในการทำโปรเจกต์นี้

เวลาเรานึกถึงพระองค์ท่าน เราก็จะนึกถึงโครงการต่างๆ นึกถึงความชุ่มฉ่ำอุดมสมบูรณ์ในทุก ๆ ที่ที่ท่านไปถึง แล้วก็ทำให้พื้นที่ตรงนั้นอยู่ได้ แล้วก็นึกถึงชีวิต แล้วพอเรานึกถึงเมฆฝนก็เชื่อมโยงกับบางสิ่งบางอย่างของวัยรุ่น อย่างอุดมการณ์ แรงความฝัน แรงศรัทธาอะไรบางอย่างบางทีเค้าก็จะมีแรงวิ่งตามความฝัน วิ่งตามเมฆฝนพวกนี้ในชีวิตของเค้า ก็เอาประเด็นนี้มารวมกันจนเป็นเรื่องนี้ขึ้นมา บางสิ่งที่พระองค์ท่านได้เคยพูดไว้ว่า การที่เราจะไปพัฒนาที่ไหนซักที่หนึ่ง เราควรจะรู้ความต้องการของคนในพื้นที่นั้นๆ ว่าเค้าต้องการอะไร การพัฒนานั้นมันถึงจะได้ผลและยั่งยืน ประเด็นนี้แหละ เรารู้สึกว่า Conflict ในสังคมเนี่ย มันก็แก้ได้ด้วยการเรียนรู้จากที่ท่านได้สอนมาหรือได้เคยพูดเอาไว้

ความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้

พอได้รับโจทย์มา ก็แทบจะไม่คิดอะไรเลย คือตอบรับทันที เราทำเรื่องนี้ด้วยใจจริง ๆ เขียนเป็นบทมาเท่าหนังใหญ่เลย คือทำแบบไม่ได้คิดเลยว่า เฮ้ย...จะฉายยังไง คืออยากทำด้วยใจอยู่แล้ว แล้วพอได้ทำ ได้ไปรีเสิร์ช ก็เข้าใจแก่นที่เราทำมากขึ้น ในสิ่งที่ท่านเคยสอนเราในฐานะที่เป็นพ่อของคนทั้งแผ่นดิน เราเข้าใจมากขึ้น เห็นหลาย ๆ อย่าง ท่านทำเอาไว้เยอะมาก แล้วสิ่งที่ท่านทำไม่ได้สูญหายไปไหน ก็ยังอยู่ในใจของเราทุกคน แล้วถ้าเราทำตามสิ่งที่ท่านสอนเอาไว้ ประเทศของเรา โลกของเรามันจะดีขึ้น ถ้าเราไม่ย่อท้อไปก่อน มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราส่งต่อ

เรื่องราวของ "เมฆฝนบนป่าเหนือ"

ก็เป็นเรื่องราวของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ไปเข้าค่ายอาสาโดยมีโปรเจกต์ว่าจะต้องปลูกป่าในพื้นที่ตรงนี้ 10 ไร่ โดยในวิชาเรียนเนี่ยทุก ๆ ปีก็จะต้องไปปลูกสิบไร่ เพราะวิจัยมาแล้วว่า ถ้าเกิดมีผืนป่าเกิดขึ้น 10 ไร่ต่อปี ก็จะทำให้ความอุดมสมบูรณ์บนป่าต้นน้ำเกิดขึ้น แล้วก็จะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วย ไม่แห้งแล้ง Conflict มันก็เกิดเมื่อบริเวณป่าต้นน้ำที่เป็นที่อยู่ของชาวบ้าน เค้าก็อยากมีการเพาะปลูก มีการทำเกษตรเพื่อการเลี้ยงชีพขึ้นมา ทีนี้ความต้องการมันมีความขัดแย้งกัน นักศึกษาพวกนี้จะเอาชนะตรงนี้ได้ยังไง หรือจะได้เรียนรู้อะไรเมื่อไปถึงพื้นที่ตรงนั้นแล้วเข้าใจคนในพื้นที่ แล้วจะเอาปัญหาตรงนี้เนี่ยมาแก้ยังไง นอกจากเรื่องความต้องการของชาวบ้านหรือคนในพื้นที่แล้ว ก็ยังพูดถึงความโรแมนติกความรักของวัยรุ่น แน่นอนอยู่แล้วว่าเวลาขึ้นไปป่า ไปค่ายอาสาอะไรอย่างนี้ ไปกันหลายคน ไปกันสนุกสนานก็ย่อมต้องมีเรื่องดราม่า เรื่องกุ๊กกิ๊กอะไรกันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

การรีเสิร์ชข้อมูล

ในการรีเสิร์ชเนี่ย จริง ๆ แล้วหลังจากที่ได้รับโจทย์จากสหมงคลฟิล์มฯ มาก็พยายามคิด ก็ลองไปดู แล้วเราก็เป็นคนเหนืออยู่แล้ว ก็จะผูกพันกับภูเขา ป่าไม้ อ่างเก็บน้ำ ฝายนั่นฝายนี่ เราเห็นคนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ของท่านหลาย ๆ อัน เราก็ไปดูว่าตรงไหนมีการเพาะปลูกตรงไหนมีโครงการหลวง ไปดูพื้นที่ที่ "บ้านแม่สะป๊อก อำเภอแม่วาง เชียงใหม่" ก็ไปดูพื้นที่ว่าชาวบ้านเค้าอยู่กับธรรมชาติยังไง เค้ามีการเพาะปลูก ชีวิตหมุนเวียนยังไง ไปตั้งแต่หน้าร้อน หน้าหนาว แล้วก็หน้าฝน ถ่ายตอนหน้าฝนนี่แหละ ก็ถือว่าเป็นโลเคชั่นที่ยากลำบากมาก เวลาหน้าหนาวมันก็หนาวถึงใจ หน้าร้อนก็ร้อนอยู่ไม่ได้ หน้าฝนก็พื้นเฉอะแฉะ มีโคลน มีต้นไม้ที่มีหนาม มีอะไรไปหมด คือเดินไม่สะดวก แต่เราก็ไปถ่ายกันกลางดินกลางทรายตรงนั้นเลย เพราะหนังเราว่าด้วยการปลูกป่า การปลูกต้นไม้ มันก็ต้องออก External เยอะมาก รู้สึกว่าเหนื่อยแต่ทุกคนก็สนุกมาก ๆ ด้วย เป็นอะไรที่เราไม่ได้ทำทุกวัน แล้วเราก็เห็นของจริง เห็นชาวบ้าน เห็นท้องไร่ท้องนา เห็นชีวิต

เบื้องหลังการถ่ายทำ

ตอนถ่ายนี่ก็มีสัตว์ป่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน มีควาย ก็ตั้งแต่ไปดูโลเคชั่นแล้วก็ลื่นตกดอยบ้าง ลื่นกันหลายคนเลย จนดูไม่จบบ้าง มีฝูงควายวิ่งเตลิดตัดหน้ากองถ่าย มีช้างบุกเข้ามาในเต็นต์ เหมือนเราไปออกค่ายจริง ๆ กับตัวละครเหมือนกัน นักแสดงก็ล้มคว่ำล้มหงายกันไป

ทีมนักแสดง

พอมันเป็นหนังเกี่ยวกับวัยหนุ่มสาว คนแรกเลยคือ น้องเฟม ชวินโรจน์ คือเห็นน้องมาตั้งแต่เด็กละ แล้วก็เห็นผลงานตอนเป็นวัยรุ่น ตัวละครของน้องจะเป็นคนที่ดูมีอุดมการณ์ มีความคิด มีความคล่อง ดูเป็นคนฉลาด ซึ่งน้องก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เหมาะกับบทที่จะเอามาเล่นมาก ๆ ตรงนี้ แล้วก็ลองคุยดู น้องเค้าก็ชอบ สนใจมาเล่น แล้วน้องเฟมเป็นคนตั้งใจทำงาน งานออกมาได้เกินร้อยทุกอัน

อย่าง โอบ โอบนิธิ ก็เห็นผลงานมานานละ โอบเป็นคนที่ดูแล้วโลกสดใส ดูแล้วน่ารัก เหมาะกับคาแรคเตอร์ของคนที่ชิล ๆ ไม่ค่อยคิดอะไร แล้วก็มาเฮฮาไปกับเพื่อน แต่ไอ้การที่มันไม่คิดอะไร มองโลกในแง่ดี บางทีเราก็ต้องการคนแบบนี้ในโลกบ้าง อุ้ม อิษยา ก็เป็นนักแสดงที่ผลงานน่าจับตามาก ในปีนี้ปรากฏอยู่ในหนังหลายเรื่องมาก และน้องก็เป็นคนที่มีฝีมือ ตัวละครจะเป็นผู้หญิงที่มาค่ายก็เพราะว่ามันเป็นวิชาเรียน แต่สิ่งที่เธอได้รับกลับมามันมากกว่าเกรด มันได้มากกว่าตรงนั้น กว่าสิ่งที่เธอคาดหวังไว้แต่แรกเยอะ เป็นตัวละครที่เรียนรู้อะไรเยอะ แล้วน้องอุ้มก็ตีบทแตกกระจุย

ทุกทีเราเขียนบท เราก็ไม่ได้นึกถึงใครไว้เลย นึกถึงแต่ตัวละครก่อน ทีนี้พอทำแล้วค่อยมานึกถึงทีหลังว่า เอ๊ะ...เอาใครมาเล่นดี พอมันเป็นสามคนนี้มันก็เป็นส่วนผสมที่ดูดีมาก มีพี่สืบ-บุญส่ง นาคภู่ อีกคนนึงขาดไม่ได้ พี่สืบรับบทเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่คนในท้องที่นั้นหรอก ก็จะคล้าย ๆ กับแก๊งวัยรุ่นที่ไปออกค่ายนี่แหละ ก็คือเป็นคนนอกพื้นที่ ที่เข้าไปแล้วพยายามพัฒนาตรงนั้น เค้าก็จะมีวิธีการพัฒนาแบบหนึ่ง คนในพื้นที่เองก็จะมีวิธีอีกแบบหนึ่ง ซึ่งพี่สืบก็เป็นนักแสดงที่เก่งครับ ทำงานกับแกก็สบายใจเลย

เสน่ห์ความน่าสนใจโดยรวมของเรื่องนี้อยู่ตรงจุดไหนบ้าง

เสน่ห์ของเรื่อง "เมฆฝนบนป่าเหนือ" นี้คือ ที่เราทำไปแล้วนอกจากเนื้อหาสาระเนี่ย เราก็จะนึกถึงหนังสมัยยุค 90 หนังประเภทออกเดินตามอุดมการณ์ หาความฝัน ออกไปทำค่าย ออกไปเป็นครูดอย มันจะมีคอนเทนต์ประมาณนี้เยอะทั้งในหนัง ในโฆษณา เรานึกถึงยุคที่เราเป็นเด็กแล้วเรามองเห็นคนหนุ่มสาวที่เค้าอยากทำให้โลกนี้ดีขึ้น เสน่ห์ของมันเหมือนกับเราย้อนกลับไปมองโลกให้มันกว้างออกไปกว่าที่เราเห็นในทุกวันนี้

สิ่งที่เราจะบอกก็คือว่า เมื่อเราลองมองออกไปกว้างกว่าเดิม เห็นภาพกว้างกว่าเดิม เรารู้สึกว่าตัวเราเล็ก แล้วเรารู้สึกว่าคนที่ยากลำบากคนที่ได้รับความไม่เป็นธรรม หรือคนที่เค้าเดือดร้อน มันมีอยู่ทุกที่เลย แล้วเราที่มีพร้อมกว่าเค้า จะช่วยอะไรเค้าได้บ้าง นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราได้รับมาจากยุคก่อน เราก็เอากลับมาใช้ บรรยากาศเอย ความเป็นป่าฝนเอย ท้องไร่ท้องนาอะไรอย่างนี้ มันสวยมาก ๆ หนังเรื่องนี้พูดถึงคนที่พยายามจะทำสิ่งดี ๆ ให้กับโลก แต่มันก็มีอุปสรรค มีสิ่งที่ทำให้มันไม่เกิดขึ้น แต่กับในหลวงท่านทำมาทั้งชีวิตอย่างไม่ย่อท้อ ทำจนวันสุดท้าย ท่านทำได้ แล้วถ้าเราอยากจะทำอะไรดี ๆ ต่อโลก เราก็อย่าไปย่อท้อ นึกถึงท่านเอาไว้

ส่วนเสน่ห์ของทั้งโปรเจกต์ "ของขวัญ" นี้ก็คือ ผู้กำกับแต่ละคนก็จะตีความและนำเสนอสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดจากคำสอน จากสิ่งที่ท่านได้กระทำ และบันดาลใจเรายังไง จุดนี้น่าสนใจ ซึ่งในโปรเจกต์นี้ เราก็มาร่วมกันระลึกถึง เห็นแง่มุมที่พระองค์ท่านได้วางเอาไว้ เห็นแง่มุมที่เราจะปฏิบัติและเดินตาม และก็เป็นเหมือนของขวัญที่พวกเราตั้งใจทำและส่งมอบให้กับคนดู นอกจากความบันเทิงก็คงจะได้รับความทรงจำดี ๆ กลับไปด้วย

 

: อุ๋ย นนทรีย์, ปรัชญา ปิ่นแก้ว, มะเดี่ยว ชูเกียรติ, โขม ก้องเกียรติ, ของขวัญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • Netflix เนรมิตเมืองเทพ ชีวิตดีๆ ที่ลงนรก ในงานเปิดตัวภาพยนตร์ "Bangkok Breaking: ฝ่านรกเมืองเทวดา"
  • เมื่อสิ้นแสง นิรันดร์จะสิ้นสูญ พบกับตัวอย่างแรก Taklee Genesis - ตาคลี เจเนซิส 12 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์
  • "มะเดี่ยว" ดัน "นัท-ตู้" คู่หูผู้กำกับรุ่นใหม่ สู่ก้าวใหญ่ในวงการ ประเดิมหลอนแรกน่าจับตา ใน "เทอม 3"
  • ปิดกล้องแล้วจ้า!!! iQIYI Original “MY STAND-IN ตัวนาย ตัวแทน”
  • "สหมงคลฟิล์มฯ" บวงสรวง "เทอม 3" ตามติดตำนานความสยองขั้นสุดไปกับ "ตาต้า-อุ้ม-อัด-จั๊มพ์-มาร์ช-แพรวา-มาร์ค"
  •  
     
     
    ร่วมแสดงความคิดเห็น
     
    ชื่อ :
     
    ความคิดเห็น :