ข่าว > ข่าวหนังทั้งหมด > ข่าวหนัง

เบื้องหลังการสร้างแช็ปปี้และมูส ใน Chappie - จักรกลเปลี่ยนโลก

6 มี.ค. 2558 09:30 น. | เปิดอ่าน 1401 | แสดงความคิดเห็น
แชร์หน้านี้ แชร์หน้านี้
 

 

เส้นทางสู่ Chappie ของบลอมแคมป์เริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ในตอนที่เขาเป็นผู้กำกับและศิลปินวิชวล เอฟเฟ็กต์หนุ่ม เขาได้สร้างรีลโชว์โฆษณาปลอมที่จะทำให้เอเจนท์ได้เห็นว่าเขาสามารถผลิตชิ้นงานแบบไหนได้บ้าง “ผมก็แค่ทดลองโน่นี่และผมก็ออกแบบหุ่นยนต์ตัวนั้นขึ้นมาด้วยไลท์เวฟในปี 2003” เขาอธิบาย “มันได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นและอนิเมเป็นส่วนใหญ่ครับ ตอนนี้ ผมไม่ได้อินกับอนิเมและการ์ตูนเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ผมก็อยากให้ต้นกำเนิดของหนังทั้งเรื่องรักษาแก่นแท้ของมันเอาไว้ ซึ่งก็คือโฆษณาปลอมที่พิลึกพิลั่นตัวนี้ครับ ผมอยากให้แช็ปปี้เป็นเหมือนกับหุ่นยนต์ตัวนั้น”

ดังนั้น ก่อนหน้าที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น ทีมผู้สร้างก็เลยทุ่มเทให้กับการออกแบบลุคของแช็ปปี้บนหน้าจอ กระบวนการนี้ตกเป็นหน้าที่ของทีมงานที่บริษัทสองแห่ง ได้แก่อิเมจ เอ็นจิน ที่ซึ่งวิชวล เอฟเฟ็กต์อยู่ภายใต้การดูแลของซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ คริส ฮาร์วีย์และวีต้า เวิร์คช็อป ที่ซึ่งทีมฟิสิคัล เอฟเฟ็กต์ อยู่ภายใต้การดูแลของซูเปอร์ไวเซอร่ายเอฟเฟ็กต์อุปกรณ์ประกอบฉากของวีต้า โจ ดังค์ลีย์ ภายใต้แรงบันดาลใจจากหุ่นยนต์ที่บลอมแคมป์ได้ออกแบบเมื่อ 10 ปีก่อน พวกเขาได้ร่วมกันออกแบบหุ่นยนต์ที่จะอยู่ทั้งในคอมพิวเตอร์และเป็นตัวละครประกอบฉากจริงๆ ด้วย

สองปีครึ่งก่อนหน้าที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น ทีมผู้สร้างได้ถ่ายทำฟุตเตจทดสอบในโยฮันเนสเบิร์กเพื่อแสดงให้เห็นว่าแผนการของพวกเขาจะได้ผล ด้วยหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคอนเซ็ปต์นี้ประสบความสำเร็จ และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับไฟเขียวเรียบร้อย อิเมจ เอ็นจินและทีมงานที่วีต้า เวิร์คช็อปก็ทำงานร่วมกันแบบกลับไปกลับมา เพื่อขัดเกลาให้แบบดีไซน์ออกมาเพอร์เฟ็กต์ “สำหรับเรา มันเป็นกระบวนการที่ต่างออกไปครับ” ฮาร์วีย์กล่าว “ใน Elysium ทุกอย่างจะถูกสร้างขึ้นที่วีต้า แล้วอิเมจ เอ็นจินค่อยเข้ามาสร้างภาพดิจิตอล แต่ในหนังเรื่องนี้ นีลล์ใช้อีกวิธีหนึ่ง นีลล์ใช้เวลาเป็นเดือนๆ การคุยคอนเซ็ปต์อาร์ตออริจินอลกับวีต้า แล้วค่อยส่งภาพอาร์ตที่เป็นสเก็ตช์ 2D ไปให้อิเมจ เอ็นจิน จากภาพอาร์ตเวิร์คนั้น เราก็มาสร้างตัวละครให้เป็นสามมิติ เราสามารถแก้ไขกลไกอนิเมชันหลายๆ อย่างได้ก่อนที่จะมีการสร้างโมเดลจริงๆ ขึ้นมา เราสามารถขัดเกลาแบบดีไซน์ตามที่เรารู้ว่ามันจะเวิร์คน่ะครับ” จากจุดนั้น อิเมจ เอ็นจินก็ใช้โมเดลดิจิตอลร่วมกับวีต้า เวิร์คช็อป พวกเขาส่งต่องานกลับไปกลับมาเพื่อขัดเกลาแบบดีไซน์ เพื่อที่ทีมงานวีต้าจะสามารถสร้างโมเดลจริงๆ ขึ้นมา
    

ดังค์ลีย์กล่าวว่าแนวทางการออกแบบแช็ปปี้ของบลอมแคมป์คือความสมจริง “เขาอยากให้มันมจริงเขาไม่อยากให้มันมีฟังค์ชันการทำงานที่โอเวอร์เกินไป” เขากล่าว “เขาจะไม่ปล่อยแสงเลเซอร์ออกมา เขาจะต้องแข็งแกร่ง แต่ก็ต้องดูเหมือนเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถสร้างได้ภายในเวลาไม่กี่ปีนับจากนี้ครับ”

 http://www.nangdee.com/title/html/3902/Chappie.html

แบบดีไซน์ของมูสในฐานะหุ่นยนต์ตัวใหญ่ยักษ์ ล้ำสมัย ที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากสเกาท์ หุ่นยนต์ตำรวจ ดำเนินไปตามกระบวนการเดียวกัน แม้ว่าวิธีการออกแบบจะแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง “มูสเป็นลูกรักของนีลล์ครับ” ดังค์ลีย์กล่าว “เราภูมิใจมากๆ เพราะจากจุดยืนด้านวิศวกรรมแล้ว มันเวิร์คมากๆ” ดังค์ลีย์กล่าวเสริมว่า “มันดูสวยงาม และดูเหมือนว่าจะใช้งานได้ มันดูเหมือนว่าเขาจะมีชีวิตและโจมตีคุณได้เลยล่ะครับ”
    

บลอมแคมป์ออกแบบมูสให้ดูไม่สมจริง “มันน่าขันนะครับ มันเป็นสิ่งที่บริษัทด้านรักษาความปลอดภัยทำกับเครื่องจักรกลราคาแพง ไร้ประสิทธิภาพ ขนาดใหญ่ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถเรียกเก็บเงินจากผู้เสียภาษีได้ในอัตราสูง มันเป็นคอนเซ็ปต์ที่โฉ่งฉ่างและเพี้ยนที่สุดเท่าที่ผมคิดขึ้นมาได้ และเราก็สร้างเขาขึ้นมาในแบบเดียวกับการสร้างวิชวล เอฟเฟ็กต์ในยุค 60s, 70s และ 80s ตรงที่คนสร้างโมเดลจะรวมชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันจากชิ้นส่วนที่ผ่านการออกแบบมาก่อนจากเทคโนโลยีที่มีอยู่จริง และนั่นก็คือสิ่งที่ผมทำในคอมพิวเตอร์ จากนั้น วีต้า เวิร์คช็อปและอิเมจ เอ็นจินก็จะขัดเกลามันจนถึงขั้นที่ทุกข้อต่อและฟันเฟืองจะสามารถทำให้ขยับได้จริงๆ แล้วีต้าก็จะสร้างหุ่นจำลองจริงๆ ขนาดสามเมตรครึ่งขึ้นมาครับ”
    

สำหรับกองกำลังตำรวจสเกาท์ 110 นาย วีต้า เวิร์คช็อปได้สร้างหุ่นจำลองขึ้นมา 11 ตัว “เราทำให้แต่ละตัวมีเอกลักษณ์ครับ” ดังค์ลีย์กล่าว “พวกเขาต่างก็มีหมายเลขติดหน้าอก เราก็เลยสามารถสับเปลี่ยนหมายเลขหรือแผงเกราะที่มีลักษณะเก่าแก่แตกต่างกันไป เราสามารถโชว์ภาพสเกาท์ว่าเป็นตัวใหม่หรือเก่าแก่ห้าปีแล้วและต้องการการซ่อมบำรุงก็ได้ นั่นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เราใช้ เพื่อที่ผู้ชมจะสามารถแยกแยะแช็ปปี้ได้ เขาเป็นสเกาท์หมายเลข 22 และเขาก็มีรอยตำหนิที่หู ซึ่งถูกแทนที่ด้วยหูทดสอบสีส้ม มันเป็นเรื่องง่ายที่จะมองตามหูสีส้มไปทั่วบริเวณครับ”

ดังค์ลีย์กล่าว่า หูพวกนั้นไม่ใช่ตัวบ่งบอกเอกลักษณ์เท่านั้น แต่ในการออกแบบหุ่นยนต์พวกนี้ หูเหล่านั้นทำให้อนิเมเตอร์สามารถแสดงให้เห็นว่าแช็ปปี้รู้สึกอย่างไรได้ “หูเป็นสิ่งที่บ่งบอกชัดเจนที่สุดครับ” เขากล่าว “ตำแหน่งหูที่ต่างออกไปแสดงให้คุณเห็นอารมณ์ที่แตกต่างกัน”

ในตอนที่แช็ปปี้ได้รับความเสียหายในเรื่อง ทีมงานที่วีต้า เวิร์คช็อปก็สามารถเปลี่ยนแปลงลุคของเขาได้ “แช็ปปี้มีแปดลักษณะครับ” ดังค์ลีย์บอก “เรามีโครงสร้างแช็ปปี้สามร่าง และมีแผงภายนอกแปดแบบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแต่ละขั้นตอน พอเขาได้รับความเสียหายที่หน้าอก เราก็ถอดแผงเกราะด้านนอกออกและแทนที่ด้วยแผงเกราะในขั้นตอนต่อไป เขาถูกโจมตี ถูกเผา ถูกยิง ถูกยิงมากขึ้น ถูกวาดภาพโดยนินจาและโย-แลนดี้ และอื่นๆ เราทุ่มเทให้กับพัฒนาการทางกายภาพของเขา ความซับซ้อนอยู่ตรงที่ว่าทุกอย่างที่เราถ่ายทำในฉากกับหุ่นจำลอง ซึ่งก็คือหุ่นแช็ปปี้ จะต้องเชื่อมโยงกับตัวละครวิชวล เอฟเฟ็กต์และความต่อเนื่องที่พวกเขาจะต้องรักษาไว้ เราได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอิเมจ เอ็นจินเพื่อแยกแยะแต่ละขั้นตอนและทำงานในกระบวนการถ่ายทำเท็กซ์เจอร์ เพื่อที่พวกเขาจะได้ติดตามแต่ละขั้นตอนได้อย่างใกล้ชิดครับ”

 

โมเดลมูสที่ถูกสร้างขึ้นจริงก็ต้องผ่านกระบวนการความคิดคล้ายๆ กัน “โมเดลนี้ใช้งานได้จากมุมมองในฉาก แม้ว่ามันจะมีขนาดใหญ่มาก เราก็สามารถแยกมันออกเป็นชิ้นๆ และนำมันออกจากฉากได้ภายใน 30 นาทีครับ” ดังค์ลีย์กล่าวต่อ อย่างไรก็ดี การจะไปถึงจุดนั้น การสร้างโมเดลหุ่นยนต์ตัวนี้ขึ้นมาจริงๆ ก็เป็นงานที่ซับซ้อน “นีลล์อยากให้มูสตั้งท่าที่คุกคาม พุ่งไปข้างหน้า ซึ่งทำให้มันเสียสมดุลไป เราก็เลยต้องใส่น้ำหนักเพิ่มเข้าไปตรงส่วนขา เพื่อที่เราจะสามารถถ่วงน้ำหนักในท่าพุ่งไปข้างหน้าได้ มันหนักเป็นตันๆ เลยครับ”

แม้ว่าเขาจะมาจากแวดวงวิชวล เอฟเฟ็กต์ ฮาร์วีย์ก็บอกว่ามันมีข้อได้เปรียบอย่างมากในการมีโมเดลจริงๆ อยู่ในกองถ่าย ข้อแรกเลยคือหุ่นยนต์สามารถปรากฏตัวต่อหน้ากล้องได้จริงๆ “ถ้าหุ่นยนต์อยู่นิ่งๆ ในช็อต ถ้าเขาถูกปิดเครื่องหรือถ้าคนกำลังแก้ไขเขาอยู่ เราก็ไม่ต้องไปเสริมแต่งอะไร” เขากล่าว นอกเหนือจากนั้น โมเดลจริงๆ ยังสามารถให้ข้อมูลอ้างอิลสำหรับช็อตวิชวล เอฟเฟ็กต์ที่จะถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลังด้วย “เราสามารถให้แสงมัน แล้วก็ขยับมันไปรอบๆ ในขณะที่กล้องอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ได้” เขากล่าว “มีช็อตหนึ่งที่แช็ปปี้อยู่ท่ามกลางสายน มันช่วยได้มากที่เราสามารถถอดหัวหุ่นยนต์ออก แล้วดูว่าฝนจะสาดและไหลลงมาตามตัวหุ่นยนต์ยังไง แสงที่ตกกระทบมันจะเป็นยังไง เราสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นกลับมาศึกษาที่ออฟฟิศได้ มันทำให้เราได้เห็นภาพเสมือนจริงของสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นถ้ามันยืนอยู่ตรงนั้นในวันนั้นครับ”

 CHAPPIE จักรกลเปลี่ยนโลก  วันนี้ในโรงภาพยนตร์

 

: Chappie

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • Chappie - จักรกลเปลี่ยนโลก
  • เตรียมพบกับแชปปี้ หุ่นยนต์ที่มีหัวใจ 4 มีนาคม นี้ในโรงภาพยนตร์
  • ภาพจากหนังมาใหม่ "Chappie จักรกลเปลี่ยนโลก" พร้อมเตรียมเข้าฉาย 4 มีนาคม นี้ในโรงภาพยนตร์
  • ตัวอย่างแรกของภาพยนตร์ไซไฟแนวคิดล้ำ Chappie
  • ใบปิดแรกของหนังไซไฟ Chappie จากผู้กำกับ District 9 และ Elysium
  •  
     
     
    ร่วมแสดงความคิดเห็น
     
    ชื่อ :
     
    ความคิดเห็น :
     
     
     
     

    ความคิดเห็นที่ 1  จากคุณ mdigital     13 ม.ค. 2567 23:26 น.


     1