ข่าว > ข่าวสัพเพเหระทั้งหมด > Webmaster Talk

ทำความรู้จัก 4 อสูรยักษ์ในตำนาน ผู้ชิงบัลลังก์จาก “Godzilla II: King of the Monsters”

27 พ.ค. 2562 12:38 น. | เปิดอ่าน 1455 | แสดงความคิดเห็น
แชร์หน้านี้ แชร์หน้านี้
 

 

กลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง กับภาพยนตร์ล่าสุดจากจักรวาล MonsterVerse นั่นก็คือ “Godzilla II: King of the Monster - ก็อดซิลล่า 2 ราชันแห่งมอนสเตอร์” เปิดศึกชิงบัลลังก์ราชันระหว่างนักสู้รุ่นเก๋าในตำนานอย่าง ก็อดซิลล่า กิโดร่า มอธร่า และโรแดน วันนี้เราจะพาไปรู้จัก 4 มอนสเตอร์ตัวเด่นเหล่านี้ ก่อนไปพบกับผู้คว้าชัยชนะตัวจริง 30 พฤษภาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

*หมายเหตุ: เนื้อหาจะอ้างอิงและพูดถึงสัตว์ยักษ์ในฉบับจักรวาลหนังมอนสเตอร์ Monterverse เท่านั้น*

 

มอธรา (Mothra) 


ส่วนสูง: 15 เมตร
ความยาวเมื่อสยายปีก: 245 เมตร
สีตา: น้ำเงิน
เพศ: เมีย
สายพันธุ์: Titanus Mosura
ถิ่นกำเนิด: โลก

พลังความสามารถ:

คลื่นเบต้าเรืองแสง, บินด้วยความเร็วสูง, อดทนรับพลังลำแสงของกิโดร่าได้, ขาเป็นอาวุธแหลมคม, ปล่อยไหมตรึงร่างศัตรูได้

 

มอธร่า เป็นอสูรยักษ์ในร่างผีเสื้อกลางคืนที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับมนุษย์มากที่สุดในหมู่ไททั่น ด้วยสายใยความสัมพันธ์ที่มีกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณอดีต มนุษย์บูชามอธร่าเป็นเทพี หรือนางฟ้าผู้พิทักษ์ปกปักรักษา แต่หากถูกรบกวนหรือทำร้ายก็พร้อมจะโจมตีอย่างเกรี้ยวกราดทันที 

 

จากรอยเส้นนัซกาในวิหารลับของเหล่าผีเสื้อกลางคืน นามของ ‘มอธร่า’ ที่ปรากฏขึ้นมาร้อยเรียงเป็นตำนานโบราณที่ลึกลับที่สุดบนโลกของเรา บ้างก็เล่าไว้ว่ามันคือวิ่งมีชีวิตมีปีกที่มาพร้อมกับแสงสว่างจ้าแสบตา บ้างก็ว่ามันคือนางฟ้าแห่งเมฆา เจ้าของลำแสงแห่งพระเจ้าที่มีพลังทำให้ท้องฟ้าแตกสลายเป็นผุยผง

 

ในศิลาจารึกโบราณที่ค้นพบ ณ หุบเขาในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีบันทึกไว้ว่า มอธร่า คือจ่าฝูงของแมลงในอันดับเลพิดอปเทอรา ส่วนภาพวาดโบราณตามผนังเผยว่า มอธร่า เป็นส่วนหนึ่งในอารยธรรมของมนุษย์มาแต่ช้านาน โดยถูกยกย่องให้เป็น ‘ราชินีแห่งมอนสเตอร์ (Queen of the Monsters)’ หรือ ‘มารดาแห่งโลกธรรมชาติ (Mother of Natural Wourld)’ นับเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าผีเสื้ิอยักษ์ตนนี้คือหัวใจสำคัญ ที่โอบอุ้มและหล่อเลี้ยงธรรมชาติเอาไว้ด้วยความอ่อนโยน

 

โมนาร์คค้นพบดักแด้ยักษ์ที่จำศีลอยู่ในฐานเมืองจีน ชีพจรที่คลื่นโซนาร์จับได้เต้นรัวและเร็ว เป็นสัญญานที่บอกว่าสิ่งมีชีวิตชั้นสูงในตำนานกำลังจะฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้งหลังตื่นจากนิทราแสนยาวนาน ดีเอ็นเอของตัวอ่อนดักแด้เผยว่า มอธร่า มีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนและไม่เหมือนแมลงทั่วไป บริเวณหน้าอกของมันคือคลังเก็บคลื่นเบต้าขนาดมหาศาล สามารถเปลี่ยนรูปร่างและปล่อยออกมาทางปีก เป็นสุดยอดลำแสงที่สว่างจ้าทำลายทุกการมองเห็น พร้อมพลังเพลิงที่เผาไหม้ให้ศัตรูกลายเป็นเถ้าถ่าน มีชื่อเรียกว่า “ลำแสงพระเจ้า (God Rays)”

 

โรแดน (Rodan)


ส่วนสูง: 46 เมตร
น้ำหนัก: 39,043 ตัน
ความยาวเมื่อสยายปีก: 265 เมตร
สีตา: เหลือง
เพศ: ผู้
สายพันธุ์: Titanus Ordan
ถิ่นกำเนิด: โลก

พลังความสามารถ:

พ่นไฟ, อำพรางตัว, บินด้วยความเร็วสูง (ไวกว่ามอธร่า), ควบคุมไฟและลาวาด้วยพลังจิต, สร้างคลื่นเสียงโซนิคด้วยการกระพือปีก

 

โรแดน เป็นอสุรกายกึ่งสัตว์เลื้อยคลาสกึ่งสัตว์ปีก ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ทำลายล้างที่มีนิสัยหัวรุนแรงโดยธรรมชาติ มันชอบทำลายเครื่องบินและสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งที่เข้าใกล้ ขนาดผู้กำกับไมเคิล โดเฮอร์ตี้เรียกมันว่า นังเลงหัวไม้ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าอารมณ์ฉุนเฉียวของมันเกิดขึ้นเพราะสัญชาติญาณการป้องกันตัว หรือเพราะเกิดมาเพื่อกวาดล้างทุกสิ่งที่ขวางหน้ากันแน่ 

 

ตำนานโบราณเรียกขานมันด้วยชื่อมากมาย ตั้งแต่ ปีศาจไฟ (Fire Demon), ผู้กำเนิดจากไฟ (The One Born of Fire) และราชาจ้าวเวหา (King of the Skies) ก่อนลัทธิศาสนาของชนเผ่าโบราณที่อาศัยอยู่แถบภูเขาไฟตั้งชื่อให้มันว่า “โรแดน” 

 

ปัจจุบันองค์กรโมนาร์คค้นพบว่า โรแดน จำศีลอยู่ในภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น อิสลา เดอ มาร่า ประเทศเม็กซิโก ปล่อยให้ลาวาร้อนระอุไหลผ่านร่างกายไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด มันมีผิวหนังที่แข็งแกร่งราวกับก้อนหิน และมีชั้นผิวหนังที่หนากว่าใคร เพราะเกิดจากการสั่งสมตะกอนลาวาที่เคลือบตัวและแห้งเป็นชั้น ๆ ขณะจำศีลนานหลายศตวรรษในภูเขาไฟ คล้ายวิวัฒนาการเพื่อปรับตัวและอำพรางร่างกายให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นธรรมชาติของสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป

 

โครงสร้างภายในของโรแดนนั้นคล้ายกับ เทอราโนดอน ไดโนเสาร์สัตว์ปีกในยุคดึกดำบรรพ์ แต่มีขนาดมโหฬารมากกว่า บินได้ว่องไวกว่าหลายเท่าตัว แถมมีขนาดปีที่กว้างใหญ่กว่า 265 เมตร เรียกว่าสะบัดปีกทีเดียวก็สามารถพัดเมืองทั้งเมืองปลิวว่อนฟ้าได้เลย นอกจากนี้การกระพือปีกของโนแดนยังสร้างคลื่นโซนิค เรียกสายฟ้าผ่าทั่วทั้งท้องฟ้าได้อีกด้วย 

 

กิโดร่า (Ghidorah)


ส่วนสูง: 158 เมตร
น้ำหนัก: 141,056 ตัน
สีตา: แดง
เพศ: ผู้
สายพันธุ์: Titanus Ghidorah
ถิ่นกำเนิด: ไม่แน่ชัด

พลังความสามารถ:

ร่างกายสามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้า, เกล็ดผิวหนังแข็งแกร่งทนขีปนาวุธได้ทุกประเภท, บินด้วยความเร็วสูงสุด 633 ไมล์/ชั่วโมง, พ่นลำแสงบีมไฟฟ้า พลังทำลายล้างละลายร่างมนุษย์ ตึก และยานบิน

 

มังกรยักษ์ 3 หัวที่ว่ากันว่า แต่ละหัวนั้นมีไว้สำหรับใช้งานแตกต่างกันไป โดยหัวกลางนั้นนับเป็นตัวหัวหน้า จะฉลาด มีความคิดซับซ้อน และฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดมากที่สุด ส่วนหัวขวาและซ้ายจะช่วยสอดส่องบริเวณรอบข้าง คอยระวังจุดบอดและโจมตีตามคำสั่ง ส่วนหางมีหนามแหลมไว้ใช้โจมตี รวมถึงสั่นเพื่อข่มขูศัตรู คล้ายท่าทางของงูหางกระดิ่ง

 

อ้างอิงจากภาพวาดโบราณ กิโดร่านั้นเป็นศัตรูคู่แค้นกับก็อดซิลล่ามาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผู้คนในอดีตไม่กล้าแม่แต่เอ่ยชื่อของมัน เพราะเกรงกลัวต่ออำนาจและนิสัยโหดเหี้ยม ที่หลอกหลอนราวกับฝันร้าย พวกเขาจึงเรียกมันด้วยชื่อว่า “มารร้าย”, “สามวายุแห่งความตาย” หรือ “หนึ่งเดียวผู้ครองทุกสิ่ง” แต่นามที่แท้จริงของมันที่นิยมเรียกกันคือ “กิโดร่า”

 

ด้านองค์กรโมนาร์คตั้งชื่อให้มันว่า “มอนสเตอร์ ซีโร่” พบเจอร่างหลับไหลของมันที่เขตทุนดราอันหนาวเหน็บ แอนตาร์กติกา นับเป็นสัตว์ประหลาดยักษ์ยุคดึกดำบรรพ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่เจอมา หากเทียบกับก็อดซิลล่า เรียกว่าก็อดซิลล่ากลายเป็นคนแคระสำหรับมันเลยทีเดียว 

 

จากการศึกษานานหลายปีพบว่า เกล็ดผิวหนังของกิโดร่าเป็นตัวกลางสำหรับรับพลังงาน กักเก็บ และส่งต่อพลังงานไฟฟ้าทั่วร่างกาย สามารถใช้รักษาอาการบาดเจ็บทุกประเภท ไม่ว่าจะรอยข่วนหรือรอยเผาไม้ เอ็นกล้ามเนื้้อบริเวณปีกของมันมีพลังขับเคลื่อนมหาศาล ขนาดสร้างพายุเธอร์ริเคนในอากาศได้ขณะโบยบิน โดยโมเลกุลพิเศษในร่างกายจะรับไอน้ำในอากาศ เข้าสู่กระบวนการความร้อนขั้นสูงสุด แล้วปล่อยออกไปเป็นพายุรุนแรง ว่าง่าย ๆ คือมีกิโดร่าที่ไหน ก็มีสายฟ้าฟาดและพายุโหมกระหน่ำที่นั่น และจะรุนแรงขนาดที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน 

 

ก็อดซิลล่า (Godzilla)

ส่วนสูง: 108 เมตร
ความยาวจากหัวถึงหาง: 168 เมตร
น้ำหนัก: 90,000~99,000 ตัน
สีตา: ทอง, แดง, ฟ้าสว่าง (ตอนพ่นพลังปรมาณู)

พศ: ผู้
สายพันธุ์: สัตว์เลื้อยคลานครึ่งบกครึ่งน้ำ
ถิ่นกำเนิด: โลก

พลังความสามารถ:

ลมหายใจปรมาณู, พลังบีมกัมตภาพรังสี, ว่ายน้ำเร็วสูงสุด 16 ไมล์/ชั่วโมง, ทนรับรังสีระดับระเบิดนิวเคลียร์ได้, มันสมองชาญฉลาดเรียนรู้จุดอ่อนศัตรูได้ขณะต่อสู้, ประสาทหูไว จับคลื่นเสียงได้อย่างยอดเยี่ยม

 

ในภาคก่อนโมนาร์คระบุว่าก็อดซิลล่าคือสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่กลายพันธุ์มาจากระเบิดขีปนาวุธไฮโดรเจน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็อดซิลล่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดมาตั้งแต่ยุคเพอร์เมียน (ยุคอุกกาบาตฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์) อาศัยโลกใต้น้ำเพื่อปรับและอำพรางตัวจากภัยพิบัติโลก สรุปคือก็อดซิลล่าอยู่ของมันมาดี ๆ แต่ระเบิดนิวเคลียร์ใต้น้ำที่กองทัพส่งไปครั้งนั้นต่างหาก ที่เป็นต้นเหตุปลุกมันขึ้นมาอีกครั้ง 

 

โมนาร์คสันนิษฐานว่ามันคือ นักฆ่าผู้อยู่สูงสุดในห่วงโซ่อาหารบนผืนโลก สมกับฉายาเด่น “ราชันแห่งมอนสเตอร์” สังเกตจากการต่อสู้กับสัตว์ประหลาดมูโต้ในภาคก่อน พบว่าก็อดซิลล่านั้นมีมันสมอง มีความคิดมากกว่าใคร จากการปะทะหลายครั้งมันสามารถเรียนรู้ได้ว่าจุดอ่อนของคู่ต่อสู้คือตรงไหน ร่างกายของมันมีระบบแปลงพลังงานปรมาณูเป็นพลังกัมมันตภาพรังสี ซึ่งมีแรงทำลายล้างมากขึ้นทวีคูณ โดยไหลเวียนนิวตรอนจากปลายหาง ไล่ไต่ระดับขึ้นมาทางแผงบนแผ่นหลัง แล้วสังเคราะห์ให้เป็นพลังนิวเคลียร์ทางลำคอก่อนระเบิดออกมาทางปาก ไม่แปลกใจว่าทำไมมันถึงเป็นคู่ปรับที่ยากจะรับมือ 

 

หลังจากเหตุก็อดซิลล่าถล่มเมืองในปี 2014 โมนาร์คสร้างฐานลับใต้น้ำ Castle Bravo ขึ้นมาเพื่อศึกษาการใช้ชีวิตของก็อดซิลล่าตามธรรมชาติโดยเฉพาะ คลื่นเสียงใต้น้ำที่ระบบจับได้นั้นซับซ้อนและถี่เกินกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น เรียกว่ายากที่จะเข้าใจและตีความได้ แต่ที่แน่นอนก็คือ หากไร้ศึกรบ สัตว์ยักษ์เพื่อนบ้านตัวนี้จะเชื่องช้า สงบนิ่ง แต่มีนิสัยสอดรู้สอดเห็นมากกว่าที่เคย โดยมันจะออกสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวไปเรื่อย ๆ เพื่อหาความผิดปกติบนผืนโลก

 

ร่วมเป็นสักขีพยานศึกชิงความเป็นใหญ่ในโลกมอนสเตอร์
“Godzilla II: King of the Monster - ก็อดซิลล่า 2 ราชันแห่งมอนส์เตอร์”
30 พฤษภาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

ที่มา: screenrant.com, godzilla.fandom.com

 

: เกร็ดหนังดี, Godzilla II: King of the Monsters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เกร็ดหนังดี ล้วงลึกก่อนดูภาพยนตร์ หม่อม
  • เกร็ดหนังน่ารู้ ก่อนดู Black Adam 20 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น!
  • เกร็ดภาพยนตร์ Vesper ฝ่าโลกเหนือโลก 6 ตุลาคม ในโรงภาพยนตร์
  • 6 เกร็ดหนังทวนความจำก่อนดู Fantastic Beasts: The Secrets Of The Dumbledore
  • เกร็ดเบื้องหลังน่าสนใจ Justice League จากปากของผู้กำกับฯ แซ็ค สไนเดอร์
  •  
     
     
    ร่วมแสดงความคิดเห็น
     
    ชื่อ :
     
    ความคิดเห็น :
     
     
     
     

    ความคิดเห็นที่ 1  จากคุณ mdigital     14 ม.ค. 2567 00:11 น.


     1