คนทำหนังรายย่อยระบุ อยู่ยากในระบบธุรกิจฉายหนังแบบปัจจุบัน ซึ่งคนทำหนังได้ส่วนแบ่งรายได้จากการฉายเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ และอาจจะต้องซื้อโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งบริหารโดยค่ายใหญ่เพิ่ม โดยบรรดาคนทำหนังรายย่อยกำลังจับตาว่าจะเป็นการบังคับซื้อหรือไม่ ด้านเครือเมเจอร์ตอบข้อสงสัยไม่บังคับซื้อโฆษณา แต่อยากให้บรรยากาศโรงภาพยนตร์ไทยคึกคัก
ธัญญ์วารินทร์ สุขพิศิษฐ์ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของคนทำภาพยนตร์รายย่อยที่ไม่ได้สังกัดค่ายใหญ่นั้น ตกอยู่ในภาวะที่ไม่น่าจะอยู่รอดได้ เนื่องจากมีต้นทุนสูงมาก ทั้งค่าฉายหนังและส่วนแบ่งรายได้จากหนังได้รับในสัดส่วนที่น้อยกว่าค่ายใหญ่ อีกทั้งล่าสุด มีกรณีที่อาจต้องซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ที่บริหารโดยค่ายโรงภาพยนตร์ใหญ่อีกด้วย ทำให้ต้นทุนการฉายหนังสูงขึ้นมาก โดยคาดว่าต่อไปภาพยนตร์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายย่อยไม่น่าจะคุ้มกับต้นทุน
ธัญญ์วารินทร์ ระบุว่า ปัจจุบันนี้ สัดส่วนการแบ่งรายได้จากการฉายภาพยนตร์ จะแบ่งให้กับโรงฉาย 55 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด อีก 45 เปอร์เซ็นต์เป็นของเจ้าของภาพยนตร์ แต่เมื่อหักค่าฉายหนังด้วยระบบดิจิทัล ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าค่าวีพีเอฟแล้วในราคาประมาณ 24,000 บาทต่อเรื่องต่อโรง ก็ถือว่าแทบจะไม่ได้กำไรเลย แต่ขณะนี้ เครือโรงภาพยนตร์รายใหญ่ของตลาดอย่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้เริ่มชักชวนให้ค่ายหนังที่ต้องการฉายกับทางเครือเมเจอร์ฯ ลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ทางเครือซื้อมาบริหารด้วย ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับค่ายเล็กมากขึ้น
"การทำหนังเล็ก ๆ ขนาดว่าไม่ต้องซื้อโฆษณาวันละหมื่นนะ หนังเกย์ที่ทำออกมาฉายปีที่แล้วได้รายได้สองล้าน พอแบ่งกับโรงหนัง โรงได้ 55 เราได้ 45 โรงหักค่าวีพีเอฟ แทบไม่เหลืออะไร บอกตรง ๆ ว่ารอดยาก แล้วเราเป็นเจ้าเล็ก ๆ ไม่รู้จะไปทางไหน เพราะว่าโรงหนังไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย" ธัญญ์วารินทร์ กล่าว
สุภาพ หริมเทพาธิป ผู้ก่อตั้งนิตยสาร BIOSCOPE ระบุว่า แนวคิดเรื่องการเปิดหน้าโฆษณาภาพยนตร์ในไทยรัฐนั้น อาจจะไม่ตอบโจทย์ค่ายหนังเล็ก ซึ่งระยะหลังเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่า ทำให้หลายค่ายไม่ได้เตรียมงบประมาณเพื่อลงโฆษณากับทางหนังสือพิมพ์ เขาตั้งข้อสังเกตว่าค่ายเล็กนั้นอาจจะถูกบังคับให้ต้องซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วย หากต้องการฉายภาพยนตร์ในโรงของเครือใหญ่
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ระบุว่าในฐานะผู้บริโภคนั้น เห็นว่าขณะนี้ธุรกิจภาพยนตร์ของไทยถูกชี้นำโดยเครือภาพยนตร์ใหญ่เพียง 2 ค่ายเท่านั้น และหากกรณีดังกล่าวเป็นการบังคับให้คนทำหนังค่ายเล็กต้องซื้อโฆษณา เพื่อแลกกับการพิจารณาให้ภาพยนตร์ได้เข้าโรงฉาย ก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย ที่ไม่มีโอกาสได้เลือกชมภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายได้
ทางด้านธนกร ปุลิเวคินทร์ กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจฟิล์มภาพยนตร์ เครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กล่าวว่าแนวคิดของการทำโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั้น เกิดจากการที่สถานการณ์ธุรกิจภาพยนตร์ของไทยไม่คึกคัก และเห็นว่าสื่อหนังสือพิมพ์ยังมีบทบาทและช่วยให้เกิดการสื่อสารที่คึกคักขึ้นได้ แม้ว่าส่วนใหญ่ ค่ายภาพยนตร์รายเล็กจะเน้นสื่อโฆษณาออนไลน์กันแล้ว แต่ตลาดต่างจังหวัดยังรับสื่อหนังสือพิมพ์ โดยค่าโฆษณานั้นคิดใน ราคา 1,600 บาทต่อกรอบ 1 ตารางนิ้ว ซึ่งเป็นอัตราปกติของทางไทยรัฐ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเครือเมเจอร์ไม่ได้บังคับค่ายหนังเล็กว่าจะต้องลงโฆษณา หรือเอามาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาว่า ต้องลงโฆษณากับทางเมเจอร์เท่านั้นจึงจะให้ฉายได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทำหนังก็ต้องเตรียมงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้เป็นปกติอยู่แล้ว
นายธนกรระบุว่า ทางเครือเมเจอร์ฯ ได้เริ่มบริหารพื้นที่โฆษณาภาพยนตร์ในหน้าโฆษณาของไทยรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา และจะประเมินดูอีกครั้งว่า การเพิ่มช่องทางสื่อสารนี้ ได้ผลในแง่การสร้างบรรยากาศธุรกิจภาพยนตร์ให้มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นหรือไม่
Credit: FB บีบีซีไทย