ข่าว > ข่าวหนังทั้งหมด > ข่าวหนัง

"Mufasa: The Lion King" ภาพยนตร์แห่งปีที่ควรค่าแก่การไปดูบนจอยักษ์ สมจริงทั้งงานภาพและเสียง!

20 ธ.ค. 2567 13:27 น. | เปิดอ่าน 76 | แสดงความคิดเห็น
แชร์หน้านี้ แชร์หน้านี้
 

 

นับเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่สร้างกระแสให้คนทั่วโลกเข้าโรงภาพยนตร์ส่งท้ายปีกันอย่างคึกคักกับ "Disney’s Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง" ที่เผยให้เห็นปฐมบทแห่งเจ้าป่า ตำนานราชาแห่ง Pride Lands ที่นอกจากเนื้อเรื่องจะสนุกเข้มข้นชวนติดตาม งานภาพและเสียงยังสร้างความประทับใจให้คนดูอิ่มเอมอย่างที่สุด ซึ่งเบื้องหลังความยอดเยี่ยมคือการทำงานร่วมกันอย่างลงตัวของผู้กำกับมือรางวัล แบร์รี่ เจนกินส์ (Barry Jenkins) และทีมโปรดักชันที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ จนเกิดเป็นภาพและเสียงที่งดงามสมจริง พาให้คนดูดำดิ่งสู่การผจญภัยในแอฟริกา ราวกับว่ากำลังออกเดินทางไปกับมูฟาซาจริง ๆ

 

 

โดดเด่นด้วยเทคนิคการสร้างที่แปลกใหม่

แบร์รี่ เจนกินส์ ผู้กำกับชื่อดัง เริ่มงานผลิตภาพยนต์เรื่อง "Disney’s Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง" ในปี 2020 โดยให้ความสำคัญกับลุค หรือภาพรวมทางภาพและอารมณ์ของหนังเป็นอย่างมาก แม้จะได้แรงบันดาลมาจากภาพยนตร์และละครเวทีเรื่อง The Lion King ที่ผู้คนชื่นชอบ แต่เขาตั้งใจว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง” เจนกินส์จึงเลือกผสมผสานเทคนิคการสร้างภาพยนตร์แบบ Live-action เข้ากับการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์แบบสมจริง (Photoreal Computer-Generated Imagery) โดยทำงานร่วมกับแอนิเมเตอร์และดิจิทัลอาร์ตติสของ Moving Picture Company (MPC) ทีมที่เคยมอบชีวิตให้กับตัวละครสัตว์ที่โด่งดังของดิสนีย์เป็นมาแล้วใน The Jungle Book เมื่อปี 2016 และ The Lion King เมื่อปี 2019

 

โดยทีมผู้สร้างร่วมมือกับศิลปินและช่างเทคนิคจาก MPC ผสมผสานวิธีการต่าง ๆ จากแอนิเมชันและ Live-action เข้าด้วยกัน ตั้งแต่การออกแบบฉาก การถ่ายทำภาพยนตร์ ไปจนถึงการออกแบบดิจิทัล แอนิเมชัน และการตัดต่อ ซึ่งทุกอย่างดำเนินไปภายใต้วิสัยทัศน์ของเจนกินส์ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์และความงดงามลงไปในทุกเฟรมของภาพยนตร์

 

"แนวคิด คือ การนำเทคนิคการสร้างภาพยนตร์มาผสมผสานกับภาพยนตร์ดิจิทัล เพื่อขับเน้นความงดงามเชิงบทกวีและความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ สำหรับภาพยนตร์ Live-action สิ่งที่คุณพยายามทำคือจัดฉาก นำองค์ประกอบทั้งหมดมารวมกัน คุณทำงานเป็นเดือนเพื่อให้ทุกอย่างมาถึงจุดเดียวในเวลาเดียวกัน และดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น นักแสดงพูดบทของพวกเขา เอฟเฟกต์ต่าง ๆ เกิดขึ้น และบางครั้งผลลัพธ์ที่ดีที่สุดไม่ได้ออกมาตามที่คุณคิด แต่มันแตกต่างและดีกว่า นั่นคือเวทมนตร์ของสิ่งที่เราทำ เป็นสิ่งที่เราพยายามจับต้องในที่นี้ ช่วงเวลาแห่งเวทมนตร์ และนี่คือการสร้างเวทมนตร์ขึ้นทีละโมเลกุล" มาร์ก ฟรายด์เบิร์ก (Mark Friedberg) โปรดักชันดีไซเนอร์กล่าว

 

 

สร้างสรรค์ทุกฉากอย่างพิถีพิถัน

ฉากหลังของเรื่องนี้อยู่ในแอฟริกา ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด ทีมสร้างภาพยนตร์ ทั้ง แบร์รี่ เจนกินส์ และ มาร์ก ฟรายด์เบิร์ก จึงต้องท่องแอฟริกาแบบเสมือนจริง (Virtual Road Trip) โดยมีนักสำรวจผู้เชี่ยวชาญการเดินทางสำรวจภาคพื้นดินเป็นไกด์นำทาง ทำให้เห็นภูมิประเทศและภูมิทัศน์อันน่าทึ่งหลากหลายแบบของแอฟริกา ซึ่งถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจและเข็มทิศในการสร้างสรรค์ฉากและการเดินทางของตัวละคร โดยมีการปรับแต่งให้สะท้อนเรื่องราวได้ยิ่งขึ้น "ผมคิดว่าอยากทำให้ฉากในเรื่องดูเหมือนสถานที่จริงในแอฟริกา แต่บทไม่ได้เขียนมาแบบนั้นโดยตรง จึงต้องปรับแต่งให้เข้ากับบท และอยู่ภายในกรอบของเรื่องราวเพื่อให้สะท้อนการเดินทางของตัวละครได้อย่างน่าเชื่อถือที่สุด" ฟรายด์เบิร์กกล่าว

 

หลังสำรวจและเก็บข้อมูลสถานที่ต่าง ๆ ทีมโปรดักชันดีไซน์ได้นำข้อมูลมาออกแบบและสร้างฉาก โดยเริ่มจากภาพ Concept Art จากนั้นจึงสร้างฉากเสมือนจริงในรูปแบบสามมิติขึ้นมา ซึ่งด้วยข้อมูลอ้างอิงจากการสำรวจทำให้ทีมงานศิลปินจาก MPC สามารถสร้างพรรณไม้และสัตว์ต่างๆ ในทวีปแอฟริกาขึ้นมาใหม่ด้วยเทคนิค Photogrammetry และการแกะสลักด้วยมือ จนออกมาเป็นทุ่งหญ้า แคนยอน และป่าไม้ ที่งดงามละเอียดละออ จากการออกแบบอย่างพิถีพิถันในทุกส่วนตั้งแต่ก้อนหินไปจนถึงใบหญ้า โดยมีการปรับแต่งและเพิ่มองค์ประกอบ เช่น แม่น้ำ ต้นไม้ และพืชพันธุ์ต่างๆ ด้วยเครื่องมือเฉพาะเพื่อเลียนแบบความซับซ้อนของธรรมชาติให้สมจริงที่สุด ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญอย่างการปรับแต่งการเรนเดอร์ ซึ่งสำหรับฉากที่กว้างใหญ่กว่าฉากใน The Lion King ภาคก่อน จำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือใหม่ขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

 

จนในที่สุดก็ถ่ายทอดออกมาเป็นโลกของมูฟาซาที่เต็มไปด้วยความงดงามและความหลากหลายของภูมิประเทศในแอฟริกา เป็นฉากอันน่าทึ่งและน่าประหลาดใจ พร้อมทั้งฉากที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอย่างทิวทัศน์หิมะ โดยโลกของมูฟาซานี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 107 ตารางไมล์ หรือเทียบเท่าเมือง Salt Lake City ในรัฐ Utah เลยทีเดียว และฉากเหล่านี้ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเล่าเรื่องการเดินทางของมูฟาซา ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และเชิงจิตวิญญาณ

 

 

งานเสียงที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้งานภาพ

ไม่เพียงงานภาพที่ทีมผู้สร้างทุ่มเทกันอย่างมาก ด้านงานเสียงก็คู่ขนานไปกับงานภาพด้วยเช่นกัน โดย Onnalee Blank ผู้รับหน้าที่เป็น Supervising Sound Editor / Re-ecording Mixer, CAS, MPSE ได้สร้างผลงานด้านเสียงอันยอดเยี่ยม ทำให้เสียงในเรื่องมีความสมจริงที่สุด ด้วยการทุ่มเทเก็บเสียงจริงจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปีนขึ้นไปบนจุดที่สูงกว่า 11,200 ฟุต บนภูเขา Mammoth ในแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับไมโครโฟนชนิดพิเศษและอุปกรณ์บันทึกเสียงที่เธอติดไว้กับตัวเองเพื่อเก็บเสียงลมจริงจากธรรมชาติ รวมถึงเสียงหิมะ นอกจากนี้เสียงสัตว์ต่าง ๆ เธอก็คิดหาวิธีในการเก็บเสียงจากสัตว์จริง เช่น การสร้างรถสำรวจขนาดเล็กที่ติดตั้งไมโครโฟนไว้ในกรง เพื่อให้สามารถบันทึกเสียงของสิงโตได้โดยที่พวกมันไม่กินอุปกรณ์ของเธอไปเสียก่อน (แม้ว่าสิงโตจะวนเวียนล้อมรถสำรวจและพยายามตะปบอุปกรณ์ด้วยความสงสัยก็ตาม) หรือการเก็บเสียงหมูป่า Wart-hog ด้วยการติดอุปกรณ์บันทึกเสียงไปกับสร้อยคอที่สวมไว้บนตัวหมูป่าจริงเพื่อนำมาใช้แทนเสียงของพุมบ้า เป็นต้น

 

นอกจากบทสนทนา เพลงร้อง และเพลงประกอบ เสียงอื่น ๆ ที่ปรากฏใน "Disney’s Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง" ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของทีมออกแบบเสียงที่สร้างและปรับแต่งทุกเสียงในเรื่อง ตั้งแต่เสียงของฝูงช้างที่วิ่งกระโจน ไปจนถึงกลุ่มลิงบาบูน โดยใส่ใจทุกรายละเอียดผ่านการใช้เทคนิค Foley ที่บางกรณีต้องเริ่มทำตั้งแต่ยังมีเพียงภาพสตอรีบอร์ดหรือร่างภาพ เพื่อกำหนดว่าสัตว์แต่ละชนิดเดินบนดินหรือหญ้า เพื่อให้ประสบการณ์การดูหนังของคนดูสมบูรณ์และราบรื่นที่สุด นอกจากนี้ทีมยังต้องประเมิน สร้าง เพิ่ม หรือลดเสียงบรรยากาศรอบ ๆ ตัวละคร ให้ชั้นเสียงของสิ่งแวดล้อมสมจริง ไม่กลบเสียงบทสนทนาและเพลง โดยคำนึงถึงสัตว์ที่อยู่ในฉากหลังด้วย เพื่อให้ตัวละครหลักไม่ดูแปลกแยก ทุกเสียงจึงต้องฟังดูเป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับสถานที่และลำดับเรื่องราว ทำให้ทัศนียภาพทางเสียง หรือ  Soundscape ของ "Disney’s Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง" ให้ความรู้สึกสมจริงเหมือนคนดูได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ในเรื่องด้วย

 

 

เรียกได้ว่าทุกฉาก ทุกเสียง มาจากฉากจริง เสียงจริง ที่ปรับแต่งเพื่อให้กลมกลืนเหมาะสม บอกเล่าการเดินทางของมูฟาซาได้อย่างดีที่สุด ภาพที่เห็นจึงงดงามและยิ่งใหญ่ ผสมผสานกับเสียงจริงจากธรรมชาติ จึงให้ความรู้สึกสมจริงอย่างมากเมื่อเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์ ใครยังไม่ได้ดู รีบจองตั๋วและไปผจญกับ "Disney’s Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง" ได้แล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์และระบบ IMAX ทั่วประเทศ

 

 

: Mufasa: The Lion King

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • Mufasa: The Lion King ขึ้นแท่นหนังทำเงินเรื่องใหม่ ทำรายได้มุ่งสู่ 50 ล้านบาททั่วไทย
  • โปสเตอร์แฟนอาร์ตนักพากย์ไทย Disney’s Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง
  • “ณเดชน์-ต้าห์อู๋-แก้ม” ร่วมพากย์เสียงภาษาไทยในภาคต่อ Disney’s Mufasa: The Lion King
  • "Mufasa: The Lion King" พาย้อนเวลาไปพบกับตัวละครที่คิดถึง พร้อมเผยตัวละครใหม่ที่จะมาครองหัวใจทุกคน
  • "Mufasa: The Lion King มูฟาซา: เดอะ ไลอ้อน คิง" พร้อมพาแฟนๆ ทำความรู้จักเหล่าตัวละคร ก่อนไปพบกัน 19 ธันวาคมนี้
  •  
     
     
    ร่วมแสดงความคิดเห็น
     
    ชื่อ :
     
    ความคิดเห็น :